กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DoJ) ได้ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ Google ขาย Chrome เบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก รวมถึงอาจต้องขาย Android หากบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หลังจากที่ศาลตัดสินว่า Google ละเมิดกฎหมายการผูกขาดทางการค้า
โดยคดีนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 โดย DoJ กล่าวหา Google ว่าจ่ายเงินมหาศาลให้บริษัทต่างๆ เช่น Apple และ Samsung เพื่อให้ตั้งเครื่องมือค้นหาของ Google เป็นค่าตั้งต้นหรือเป็นตัวเลือกเดียวในเบราว์เซอร์และสมาร์ทโฟน
ข้อมูลจากเอกสารของศาลระบุว่าในปี 2021 เพียงปีเดียว Google ใช้เงินกว่า 26 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.5 แสนล้านบาท) เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งช่วยให้ Google ครองตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ด้วยส่วนแบ่งตลาด 90% ในสหรัฐฯ และ 95% บนอุปกรณ์มือถือ นอกจากนี้ Google ยังสร้างรายได้จากโฆษณาบนเครื่องมือค้นหาสูงถึง 146 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.3 ล้านล้านบาท) ในปีเดียว
ผู้พิพากษา Amit Mehta ระบุในคำตัดสินที่มีความยาว 286 หน้า ว่าการกระทำของ Google ทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดค้นหาออนไลน์ แม้ว่าจะยอมรับว่า Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่ดีที่สุดในตลาด แต่การใช้จ่ายเงินในลักษณะนี้ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสของคู่แข่งและละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดย DoJ ได้เสนอแนวทางแก้ไขดังนี้:
1. ขาย Chrome: DoJ เรียกร้องให้ Google ขายเบราว์เซอร์ Chrome เพื่อเปิดโอกาสให้คู่แข่งสามารถแข่งขันได้อย่างยุติธรรม
2. ขาย Android: Android ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ Google ใช้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง การขาย Android อาจเป็นทางออกที่ตรงไปตรงมา หาก Google ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
3. ห้ามกลับสู่ตลาดเบราว์เซอร์: DoJ เสนอให้ Google ถูกห้ามกลับเข้าสู่ตลาดเบราว์เซอร์อย่างน้อย 5 ปี
อย่างไรก็ตามคำตัดสินนี้ยังไม่สิ้นสุด โดย Google คาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ในเดือนธันวาคมนี้ และคำตัดสินสุดท้ายอาจออกในเดือนสิงหาคมปีหน้า หาก Google ยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติม คดีนี้อาจยืดเยื้อไปอีกหลายปี
สำหรับการบังคับให้ Google ขาย Chrome และ Android อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แลเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการแข่งขันในตลาดเครื่องมือค้นหาและสมาร์ทโฟนทั่วโลก
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – ITPro