การวางแผนรองรับเหตุไม่คาดฝัน และภาวะหยุดชะงักในการให้บริการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องจากสายเคเบิลใต้น้ำ, เครือข่ายภาคพื้นดิน, หรือระบบดาวเทียมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้จัดการด้านไอทีในองค์กร การปรับปรุงแผนรับมืออยู่เสมอก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อตัวเลือกในการแบ๊กอัพเพิ่มจากเมื่อก่อนมาก
อย่างเหตุภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำที่ตัดขาดลิงก์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหนึ่งเดียวไปยังประเทศตองก้า ที่เป็นเกาะกลางทะเลเมื่อเดือนก่อนนั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เหล่าผู้บริหารไอทีทั่วโลกต้องหันมาทบทวนแผนแบ๊กอัพและกู้คืนระบบกันใหม่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเน็ตเวิร์กและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ
ไม่ว่าสาเหตุของเรื่องไม่พึงประสงค์จะมาจากรถแบ๊กโฮไปตัดโดยสาย, จากอาชญากรรม, หรือเรื่องบังเอิญอื่นที่คาดเดาไม่ได้ องค์กรทั้งหลายก็จำเป็นต้องมีแผนสำรองสำหรับทุกพื้นที่ที่จำเป็นไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก อยู่ใกล้หรือกระจายทั่วโลก เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุดดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 กางแผนที่ลิงก์ของผู้ให้บริการดู
ถ้าผู้ให้บริการโครงข่ายของคุณยังไม่เคยให้แผนที่การเชื่อมต่อ รวมถึงแผนสำรองสำหรับบริการที่คุณใช้อยู่ ก็ต้องกดดันเอามาให้ได้ เพื่อจะได้ใช้มองหาจุดอ่อนในแผนของคุณ ระวังว่าถึงจะใช้ผู้ให้บริการหลายเจ้าก็ไม่ได้ช่วยสำรองลิงก์ได้ เพราะหลายเจ้าใช้ลิงก์ข้ามประเทศเดียวกันก็มี
ขั้นที่ 2 ลดความเสี่ยงสายไฟเบอร์โดนตัดขาด
Jimmy Yu รองประธานของกลุ่มตลาดสื่อสารผ่านสายไฟเบอร์ของกลุ่ม Dell’Oro ที่เป็นบริษัทวิเคราะห์และวิจัยได้กล่าวว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบจากสายไฟเบอร์ตัดขาดคือ การเลือกผู้ให้บริการที่มีเส้นทางโยงลิงก์แยกกันสองเส้นทางในทุกๆ ที่”
“หรือหันมาใช้บริการจากผู้ให้บริการสองรายที่มีเส้นทางโยงสายไฟเบอร์ต่างกันแทน” ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าว ถ้าลิงก์ไฟเบอร์หนึ่งขาด เน็ตเวิร์กก็จะหาเส้นทางใหม่ให้ทราฟิกของลูกค้าไปเส้นทางสำรองแทนภายในไม่กี่นาที ทั้งเครือข่ายภาคพื้นและใต้น้ำ
ขั้นที่ 3 หาทางเลือกสื่อส่งสัญญาณหลายแบบ
ในเมื่อสายไฟเบอร์ขาดนั้นดูหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้จัดการด้านไอทีก็ควรพิจารณาทางเลือกการส่งสัญญาณข้อมูลรูปแบบอื่นอย่างเครือข่ายไร้สายหรือผ่านดาวเทียมไว้ในแผนสำรองไว้ด้วย ถ้าไซต์งานอยู่ห่างจากพรมแดนไม่เกิน 100 กิโลเมตร การใช้สัญญาณไมโครเวฟส่งแบบ Point-to-Point ก็เหมาะสมมาก
ขั้นที่ 4 มองหาสายเคเบิลใหม่ จากผู้ให้บริการรายใหม่ ที่โยงเส้นทางใหม่ๆ
จากความต้องการที่จะขยายและปกป้องการเชื่อมต่อบริการบนคลาวด์ และทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเองเสถียรมากที่สุด ทำให้ทั้งกูเกิ้ล ไมโครซอฟท์ และเฟซบุ๊ก ต่างลากสายเคเบิลใต้น้ำเองมากกว่า 20 เส้น ลากข้ามเมืองใหญ่หรือแม้แต่ข้ามประเทศไปมา โดยเฉพาะเส้นทางใหม่ๆ ทั่วโลก
ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า แค่กูเกิ้ลเจ้าเดียวก็มีสายเคเบิลใต้น้ำมากถึง 16 เส้นแล้ว ขณะที่ทางไมโครซอฟท์และเฟซบุ๊กก็แข่งไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นข่าวดีของพวกเราที่บริการเหล่านี้เชื่อมต่อไปถึงพื้นที่ใหม่ๆ และมีการสำรองลิงก์ในตัวเองด้วย แม้จะยากที่เจ้าใหญ่เหล่านี้จะยอมแบ่งเช่าแบนด์วิธให้องค์กรอื่น
ขั้นที่ 5 กระจายรูปแบบลิงก์สายเคเบิลเพื่อหลีกหนีภัยพิบัติ
ก่อนหน้านี้ สายเคเบิลใต้น้ำถือเป็นของสมาพันธ์ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มาจากความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้คอยบริหารจัดการทุกอย่าง แต่เมื่อเกิดเฮอร์ริเคนแซนดี้เข้ามาถล่มนิวเจอร์ซีย์เมื่อตุลาคม 2021 จนเกิดดาวน์ไทม์กระจายวงกว้างมาก
โดย Frank Rey ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์เครือข่ายทั่วโลกในส่วนของระบบคลาวด์ไมโครซอฟท์กล่าวว่า “ถือเป็นการหยุดชะงักครั้งยิ่งใหญ่ กระทบทั่วอเมริกาเหนือและยุโรปไปหลายชั่วโมง ทำให้เราต้องพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการใช้ทั้งสายภาคพื้น และสายเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรร่วมกัน”
ขั้นที่ 6 มองการขยายลิงก์ขึ้นไปบนคลาวด์
ภัยพิบัติต่างๆ ได้ผลักดันความก้าวหน้าในการสร้างความเสถียรให้ระบบเครือข่าย อย่างพายุเฮอร์ริเคนที่กระตุ้นให้ทั้งไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก และคู่สัญญาอย่าง Telexius ในการลากสายเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ที่แบนด์วิธสูงที่สุดที่เคยมีมาจนเสร็จพร้อมใช้งานเมื่อปี 2019
ขั้นที่ 7 ตรวจสอบ SLA ต่างๆ
ผู้จัดการด้านไอทีในองค์กรจำเป็นต้องทบทวนข้อตกลงระดับการให้บริการหรือ SLA ที่ทำกับผู้ให้บริการโครงข่ายของตัวเอง ทั้งด้านความพร้อมการให้บริการ และเวลาในการกู้คืนระบบ เนื่องจากผู้ให้บริการบางรายไม่สามารถสัญญาเวลาการเข้าจัดการและแก้ไขปัญหาได้
ขั้นที่ 8 พิจารณาลงทุนกับอุปกรณ์แบ็คอัพ
ถ้างบประมาณมีจำกัด และราคาของที่เกี่ยวข้องพุ่งสูง การจัดซื้ออุปกรณ์มาตั้งทิ้งไว้เฉยๆ นานๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบจัดการเท่าไร บางแห่งอาจเลือกใช้แผนสำรองตามปริมาณการใช้งานหรือความต้องการแทน เราอาจมองการหาเราเตอร์และเกตเวย์ IoT เพิ่มเติมเพื่อสำรองระบบได้
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Networkworld
//////////////////