ยุคนี้มีภาษาเขียนโปรแกรมมากมายให้เลือก จนไม่รู้ว่าภาษาไหนที่จะคุ้มกับการลงทุนเรียนรู้ในระยะยาวมากที่สุด ซึ่งในขณะที่หลายคนมานั่งตัดสินใจเลือกภาษาโปรแกรมมิ่งที่เหมาะกับแต่ละงานอยู่นั้น ก็มีผู้เชี่ยวชาญมากมายนั่งวิจัยประเด็นนี้กันด้วย
ยิ่งเป็นมือใหม่ที่ขาดทั้งความช่วยเหลือและประสบการณ์ ก็ยิ่งยากที่จะตัดสินใจเลือกภาษาที่จะใช้เริ่มต้นอาชีพของตัวเองขึ้นไปอีก ดังนั้น การจะเลือกให้เหมาะสม ก็ควรทราบเป้าหมายที่ทำให้ต้องการเรียนการเขียนโปรแกรมเสียก่อน
ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการเอาดีด้านเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ก็ควรเลือกภาษา Python แต่ถ้าต้องการแข่งเรื่องการเขียนโปรแกรมแอพพลิเคชันอย่างจริงจัง ก็ควรมองภาษา C++ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องดูความนิยม ความต้องการของตลาดด้วย
เพื่อให้สามารถเลือกภาษาที่สร้างความก้าวหน้าในอาชีพได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะด้านประสิทธิภาพการทำงาน การปรับเข้ากับความต้องการ การประยุกต์ใช้ที่จำเพาะ ทาง Technotification.com จึงได้รวบรวมสุดยอด 5 ภาษาโปรแกรมมิ่งที่เลือกเรียนได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากอีก ดังนี้
1. Python
ด้วยชุดคำสั่งที่เรียบง่าย นำไปใช้งานได้หลากหลาย จึงกลายเป็นภาษาที่แนะนำให้ผู้เริ่มต้นควรเรียนรู้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจากความชัดเจนตรงไปตรงมาของโค้ด ทำให้เป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ไวและครอบจักรวาล
จุดเด่นของภาษานี้มีตั้งแต่โมดูลที่ออกมารองรับมหาศาล มีชุมชนออนไลน์มากมายคอยให้ความช่วยเหลือและพัฒนา การเป็นโอเพ่นซอร์ส ความสามารถในการรองรับการปรับขนาดระบบที่ซับซ้อน นิยมใช้ในบริการชื่อดังมากมายทั้งยูทูป อินสตราแกรม
2. C/C++
มีการแนะนำโดยทั่วไปว่า มือใหม่ก็ควรเริ่มต้นกับภาษาระดับล่าง (Low Level) ที่คอมพ์ประมวลผลกันง่ายด้วยสักภาษา เพราะจริงๆ ก็ถือภาษาที่เข้าใจ เรียนรู้ได้ง่ายด้วย เช่นภาษายุคบุกเบิกอย่าง C ที่ใช้พัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อดังต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวินโดวส์ ลีนุกซ์ เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างของภาษา C/C++ ก็ทำให้มือใหม่สามารถทำความเข้าใจกับระบบพื้นฐานมากมายที่เป็นรากฐานหลักการเขียนโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นได้ง่าย
3. Java
เป็นภาษาที่ขึ้นแท่นอันดับต้นๆ ด้านความยากตั้งแต่เปิดตัวเลยทีเดียวในวงการคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แม้จะเป็นภาษาทั่วไปที่มีโครงสร้างแบบอ๊อพเจ็กต์ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบด้วยหลักการที่ว่า “เขียนแค่ครั้งเดียว ก็เอาไปใช้ได้ทุกที่”
คุณลักษณะเด่นของภาษานี้ได้แก่ การจัดสรรหน่วยความจำอัตโนมัติ การทำมัลติเทรด การเป็นอิสระไม่ขึ้นกับแพลตฟอร์ม แม้จะเรียนรู้ยาก แต่เหมาะมากในการใช้พัฒนาแอพบนแอนดรอยด์ ซอฟต์แวร์จำเพาะขององค์กร และระบบของบริการดังอย่างกูเกิ้ล แอมะซอน ทวิตเตอร์
4. JavaScript
เรียนรู้ได้ง่าย ใช้ร่วมกับภาษาอื่นได้ดี ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่การโปรแกรมเฉพาะฝั่งไคลเอนต์อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังใช้พัฒนาฟีเจอร์ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้ด้วย มีเฟรมเวิร์กและไลบรารีรองรับจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็น Angular, React, Vue ที่ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก และที่สำคัญ บริษัทไอทีบิ๊กเนมทั้งหลาย Facebook, Google, Gmail และเจ้าอื่นๆ ต่างก็ขยันออกประกาศรับสมัครงานด้านจาวาสคริปต์อย่างต่อเนื่อง
5. Kotlin
เป็นภาษาที่กูเกิ้ลออกมาสนับสนุนอย่างเป็นทางการในการพัฒนาบนแอนดรอยด์ ประยุกต์ใช้ได้ทั่วไปครอบจักรวาล เข้ากับภาษาจาวาได้ดี ใช้กับทูลและเฟรมเวิร์กเดิมของจาวาได้ เป็นภาษาน้องใหม่ที่นิยมใช้ในบริษัทดังอย่าง Pinterest, Basecamp ที่ดูอนาคตไกล
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Technotification
//////////////////