สมมติบริษัทของคุณต้องการการเชื่อมต่อผ่านสายใยแก้วนำแสงแบบพร้อมใช้ได้ทุกเมื่ออย่างเพียงพอ จึงตัดสินใจลากสาย วางสายเองเต็มไปหมด จนสุดท้ายคุณแปลกใจว่าทำไมเหลือสายไฟเบอร์ที่ไม่ได้ใช้งานเต็มที่เต็มไปหมดจึงเป็นที่มาของคำว่า “Dark Fibre” ที่หมายถึงสายไฟเบอร์ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน
ซึ่งคำว่า Dark หรือ “มืด” นั้น ต้องการสื่อถึงความหมายที่ตรงข้ามกับสายไฟเบอร์ที่ใช้งานอยู่ที่ต้องมีการส่งสัญญาณแสงเพื่อส่งต่อข้อมูลอยู่ตลอด สายที่ไม่ได้ใช้จึงมืดอยู่นั่นเอง
แต่ต่อมาก็มีการเปลี่ยนความหมายของ Dark Fibre มาอย่างต่อเนื่อง จนเอามาสื่อถึงระบบสายเคเบิลแบบไฟเบอร์ที่ไม่ได้ใช้งาน หรือถูกบริหารจัดการโดยผู้ให้บริการโครงข่ายรายใหญ่ ซึ่งมักถูกปล่อยเช่าให้ผู้ใช้รายอื่นแทน Dark Fibre นี้ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมีระบบสายไฟเบอร์เพียงพอในเวลาที่ต้องการ
เราจะใช้ Dark Fibre ตอนไหนกัน
ปกติแล้วการวางสายไฟเบอร์เอาไว้ให้เกินกว่าความต้องการปัจจุบันถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันกรณีที่ต้องลงทุนฝังสายไฟเบอร์เพิ่มสำหรับรองรับลูกค้าที่มากขึ้นในอนาคต
โดยทั่วไป เรานิยมวางเครือข่าย Dark Fibre เป็นทั้งแบบ Point-to-Point และ Point-to-Multipoint แต่ถึงการวางแบบ P2P จะง่ายกว่า แต่การใช้รูปแบบการวางเครือข่าย Point-to-Multipoint จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดูแลโดยรวมมากกว่า
นอกจากนี้ยังเพิ่มความหลากหลายในการติดตั้งได้ และยกระดับความปลอดภัยได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสข้อมูลที่แข็งแกร่งเพียงพอ มีหลายองค์กรที่มองหาการใช้สาย Dark Fibre เพื่อเชื่อมต่อสำนักงานสาขาหลายแห่งเข้ากับสำนักงานใหญ่หรือใช้สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกลที่ปลอดภัย การที่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่าแบ่งแบนด์วิธทั้งขาอัพโหลดและดาวน์โหลดบนแต่ละพอร์ตได้เท่ากัน รวมทั้งรองรับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดได้
ประโยชน์ที่จะได้จาก Dark Fibre
การที่ปัจจุบันค่าเช่าสาย Dark Fibre ลงมาอยู่ในระดับที่ใครก็จับต้องได้นั้น ทำให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อได้ประโยชน์มาก ด้วยการเป็นเครือข่ายที่แยกต่างหากจากระบบหลักของตัวเอง ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าการใช้เครือข่ายสายไฟเบอร์ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว จากการได้ความเร็วเน็ตที่มากกว่า และลดการผลาญแบนด์วิธโดยสูญเปล่าที่มักกระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งการเลือกใช้สาย Dark Fibre ก็เพียงอัพเกรดอุปกรณ์ที่มีให้เข้ากันได้เท่านั้น
และจากธรรมชาติของเครือข่าย Dark Fibre ที่มักลากอยู่ใต้ดิน จึงเป็นที่นิยมสำหรับโครงการด้านงานวิจัยและตรวจสอบทั้งหลาย เช่น การศึกษาด้านแผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนีย การตรวจสอบพื้นที่น้ำแข็งตลอดปีที่ขั้วโลกในอลาสก้า
หรือแม้แต่การศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร เรียกได้ว่าแม้ก่อนหน้านี้ Dark Fibre จะถูกมองแค่เป็นเครือข่ายสำรองของผู้ให้บริการ แต่ตอนนี้ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายโดยองค์กรต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการปฏิบัติงานของตัวเอง
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Technotification