รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมการแพทย์และหัวเว่ย พัฒนาระบบ 5G Healthcare สนับสนุนการแพทย์ทางไกล รถพยาบาล 5G งานบริการคลาวด์ ประยุกต์ใช้ AI จาก Big Data ด้านสุขภาพ ช่วยการวินิจฉัยภาพทางการแพทย์ พร้อมทั้งทำให้เป็น personal-based medical services ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น รองรับการแพทย์วิถีใหม่ ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา
ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วย “การศึกษาและพัฒนาระบบ 5G Healthcare” ระหว่าง นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายเฉียน เหลียว รองประธานกรรมการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วม
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างมาก สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบคิว ระบบงานบริการของโรงพยาบาล ระบบส่งต่อ และการเชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพที่เป็น Big Data เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือ ความเชี่ยวชาญ และการใช้เทคโนโลยี 5G ระดับโลกจากหัวเว่ย ส่งผลให้บริการสุขภาพผ่านเครือข่ายดิจิทัลมีความเร็วสูง เกิดความครอบคลุมทั้งพื้นที่เขตเมืองและชนบท ลดช่องว่างให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทันเวลา และทันต่อเหตุการณ์ ถือเป็นการรองรับการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ยังต้องเข้มเรื่องรักษาระยะห่าง ดังนั้น กรมการแพทย์และหัวเว่ยจึงได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อศึกษาและและวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากระบบ 5G นำมาประยุกต์ใช้ในกิจการทางการแพทย์ และการให้บริการประชาชน โดยต้องขอบคุณความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีจากหัวเว่ย ที่ได้ให้การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์และทีมที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงมาทำงานร่วมกับกระทรวงฯ และกรมการแพทย์ที่สนับสนุนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ทุกที่ทุกเวลา
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า การศึกษาและพัฒนาระบบ 5G Healthcare ประกอบด้วย ระบบการแพทย์ทางไกล 5G และรถพยาบาล 5G ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.งานบริการทางการแพทย์ โดยหัวเว่ยสนับสนุนการออกแบบโซลูชั่นด้านสาธารณสุขสำหรับสถาบันทางการแพทย์ ส่งเสริมการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตทางการแพทย์ สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการแพทย์ทางไกล ส่วนกรมการแพทย์สนับสนุน แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ ให้บริการการแพทย์เคลื่อนที่ และการแพทย์ทางไกล กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ละเมิดนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ทำให้ลดภาระการเดินทาง ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงระบบการดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น 2. งาน 5G เทคโนโลยี บูรณาการใช้เทคโนโลยี 5G เข้ากับบริการทางการแพทย์ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลในระยะยาวทั่วประเทศไทย ตัวอย่างเช่น พัฒนารถยนต์ไร้คนขับ 5G เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางแพทย์ต่อการติดเชื้อ 3. งานบริการด้านคลาวด์ สำหรับการประยุกต์ใช้ AI มาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พัฒนาเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคโดยใช้AI เพื่อการรักษาและวินิจฉัยโควิด-19 ช่วยให้วินิจฉัยโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วภายใน 25 วินาทีต่อเคส ด้วยความปลอดภัย แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. งานส่งเสริมองค์ความรู้ในองค์กร โดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือทักษะที่สูงขึ้น ให้กับบุคลากรทั้งสองฝ่าย ผ่านการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และ 5.งานความร่วมมือกับภาครัฐบาล เพื่อค้นคว้า วิจัย และร่วมผลักดันระบบ 5G และบริการคลาวด์ในประเทศไทยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal Medical Services and Public Health) ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (personal-based medical services)
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการสาธิตการใช้งานโซลูชันดิจิทัลที่ผสานรวมเทคโนโลยี 5G+Cloud ของหัวเว่ยเข้ากับการดำเนินงานของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ โซลูชันการสื่อสารทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกล 5G, ระบบ Home Isolation สำหรับการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยจากระยะไกล รวมถึงจำลองสถานการณ์การทำงานแบบเรียลไทม์ของรถพยาบาลระบบ 5G
นายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า “หัวเว่ยรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลราชวิถี ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบการดูแลสุขภาพของไทยให้ดียิ่งขึ้น บันทึกข้อตกลงนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะในอนาคต” พร้อมเสริมว่า “ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในวงการแพทย์ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเทศไทย ร่วมนำนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะมาช่วยเสริมแกร่งระบบสาธารณสุขและการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างสรรค์บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองและผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไป หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะสร้างสร้างโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงกันและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ”