นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ (Talent ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมได้รับเกียรติจาก นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีและร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้ ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนาม MOU ร่วมกับ หัวเว่ย และการเปิด Huawei ASEAN Academy ในพื้นที่อีอีซี ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และถือเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญ สร้างความร่วมมือ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย
นายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า “มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสกพอ. ผ่าน MOU ครั้งนี้ และการเปิด Huawei ASEAN Academy หัวเว่ย มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานความรู้ด้านดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย โดยทำงานร่วมกับอีอีซี และ มหาวิทยาลัยบูรพา ตลอดจนพันธมิตรทุกภาคส่วน หัวเว่ยพร้อมเดินหน้าทำงานภายใต้พันธกิจ Grow in Thailand, Contribute to Thailand ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจ และผู้ขับเคลื่อนการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล บริษัทจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มรูปแบบ”
การลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G .ในอีอีซี ที่ได้รับความร่วมมือจาก หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ระดับโลก โดยประเทศไทยได้เปิด Huawei ASEAN Academy ต่อจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ของไทยได้ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) คู่ไปกับการเพิ่มทักษะ 5G ในอีอีซี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในอนาคตจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ โดยใช้ Huawei Academy ที่อีอีซี เป็นต้นแบบ อีกทั้ง หัวเว่ย มีประสบการณ์จัดฝึกอบรมด้านดิจิทัล ให้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน SMEs และกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วกว่า 16,000 คน
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกับบริษัทระดับโลก ในการยกระดับสร้างบุคลากรดิจิทัลของไทย รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ให้ไทยก้าวสู่ ศูนย์กลางดิจิทัล (Digital Hub) แห่งภูมิภาค เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน