หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic การทดสอบเพื่อทำแผนผังสาย: ไม่ใช่เรื่องสีของสายอย่างเดียว

การทดสอบเพื่อทำแผนผังสาย: ไม่ใช่เรื่องสีของสายอย่างเดียว

แบ่งปัน
image credit : freepik

โดยทั่วไปแล้วเครื่องทดสอบสายเคเบิลแบบอีเธอร์เน็ตจะสามารถทดสอบเพื่อทำแผนผังการโยงสายหรือ Wire Map ได้ เสมือนเป็นการทดสอบที่พื้นฐานที่สุดสำหรับระบบสายเคเบิลแบบทองแดง แต่ถึงจะเป็นการทดสอบขั้นพื้นฐาน ก็ถือเป็นการทดสอบหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดด้วย และถึงแม้การทำสีของคู่สายให้แตกต่างกันอย่างน้ำเงิน, ส้ม, เขียว, และน้ำตาลจะทำให้คิดว่าเราข้ามการทดสอบแผนผังการโยงสายได้ แต่รู้ไหมว่าการทดสอบนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสีของเส้นแต่อย่างใดเรามาดูกันในรายละเอียดดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของการทดสอบ
แม้การทดสอบนี้ไม่ได้บอกถึงแบนด์วิธว่าระบบสายเคเบิลดังกล่าวรองรับการใช้งานอีเธอร์เน็ตที่ต้องการได้หรือไม่ แต่การทดสอบ Wire Map นี้ก็เป็นการทดสอบแรกที่ทำให้ทราบถึงความต่อเนื่องของสาย และตรวจว่าลวดตัวนำของสายเคเบิลทั้ง 4 คู่สายนั้นเชื่อมต่อกับพินที่ปลายอีกด้านหนึ่งได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น การทดสอบ Wire Map จึงเป็นการมองหาคู่สายที่ขาด (Open), สายลัดวงจร (Short), คู่สายที่เชื่อมย้อนกลับหาตัวเอง (Reversed Pair), คู่สายที่เชื่อมข้ามระหว่างกัน (Crossed Pair), และคู่สายที่แยกห่างออกไปเชื่อมต่อไม่ถูกต้อง (Split Pair)

ถ้าสัญญาณ DC ไปไม่ถึงปลายอีกด้านหนึ่ง ก็ถือว่าลวดขาด (Open) ถ้าสัญญาณดันวิ่งไปที่ตัวนำอีกเส้นหนึ่ง ก็แสดงว่ามีการลัดวงจร (Short) ระหว่างลวดตัวนำสองเส้น

คู่สายที่เชื่อมย้อนกลับหาตัวเอง (Reversed Pair) เกินขึ้นเมื่อขั้วของลวดตัวนำเส้นหนึ่งกลับกันกับที่ปลายอีกด้านหนึ่ง (จึงเรียกอีกอย่างว่า Tip/Ring Reversal) ตัวอย่างเช่น การที่คู่สายเข้าหัวกับพิน 3-6 ที่ปลายด้านหนึ่ง แต่กลับไปเข้าหัวกับพิน 4-5 ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง

หนึ่งในการทดสอบ Wire Map ที่ตรวจหาได้ยากที่สุดก็คือ การที่ลวดในคู่สายแยกออกไปเชื่อมต่อคู่อื่น (Split Pair) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการเชื่อมต่อระหว่างพินต่อพินนั้นยังถูกต้องตรงกัน แต่ตัวสายทางกายภาพกลับแหกแยกออกจากคู่ เช่น การแยกของคู่สายที่เกิดจากลวดตัวนำเส้นหนึ่งในคู่สายที่ควรจะเข้าหัวกับพิน 4-5 กลับไปเข้าหัวที่พิน 7 ที่ปลายทั้งสองข้าง ส่วนลวดตัวนำในอีกคู่สายที่ควรเข้าหัวกับพิน 7-8 กลับไปเข้าหัวที่พิน 5 ที่ปลายทั้งสองข้างแทน

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรื่อง Split Pair ก็คือ การทดสอบความต่อเนื่องของสัญญาณ DC จะผ่านการทดสอบแม้เกิดปัญหานี้ แต่การทดสอบ Near End Crosstalk จะล้มเหลว ซึ่งการรับส่งข้อมูลจริงก็จะล้มเหลวด้วย

แล้วสีของสายหมายถึงอะไร?
รหัสที่แทนด้วยสีของสายบนทั้ง 4 คู่สายในสายเคเบิลทองแดง อันได้แก่ สีขาวน้ำ/น้ำเงิน, สีขาวส้ม/ส้ม, สีขาวเขียว/เขียว, สีขาวน้ำตาล/น้ำตาล สีเหล่านี้ช่วยให้คุณเข้าหัวสายได้สะดวกขึ้น ทำให้ง่ายขึ้นมากในการจับคู่สีของลวดตัวนำกับสีบนหัวแจ๊ค

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทดสอบ Wire Map ไม่ได้คำนึงถึงสีของลวดตัวนำเลย ถ้าคุณอยากจะเข้าหัวคู่สายสีขาวน้ำตาล/น้ำตาลเข้ากับพินเลข 1-2, 3-6. 4-5, หรือ 7-8 ก็ทำได้ เพียงแค่ให้แน่ใจว่าเข้าหัวที่พินเดียวกันที่ปลายอีกด้านหนึ่งด้วย

แต่ถึงแม้การทดสอบ Wire Map จะไม่ได้คำนึงถึงสีบนลวดแต่ละเส้น แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งในการใช้รูปแบบการโยงสายแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งรูปแบบการโยงสายนี้เกี่ยวข้องกับสีโดยตรง โดยการจัดพินคู่กับคู่สายนั้นสัมพันธ์กับมาตรฐาน T568A หรือ T568B การโยงสายแบบ T568A นั้นจะเข้าหัวคู่สายสีส้มเข้ากับพิน 3-6 ขณะที่แบบ T568B จะเข้าหัวคู่สายสีเขียวกับพิน 3-6 แทน

หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดของความล้มเหลวในการทดสอบ Wire Map คือ การที่ช่างแต่ละคนไม่ได้ใช้รูปแบบการโยงสายเดียวเหมือนกัน จนทำให้ปลายด้านหนึ่งไปเข้าหัวแบบ T568B ขณะที่ปลายอีกด้านหนึ่งหลับไปใช้รูปแบบ T568A ซึ่งถ้าอ่านเนื้อหาข้างต้นจนเข้าใจแล้ว ก็จะทราบทันทีว่ากรณีนี้เป็นสาเหตุของปัญหาการเชื่อมข้ามคู่สาย (Crossed Pair) นั่นเอง

การแก้ปัญหา
เมื่อต้องแก้ปัญหาความล้มเหลวของการทดสอบ Wire Map นั้น ขั้นแรกคือการตรวจสอบการเข้าหัว ซึ่งมองได้ง่ายๆ ว่าลวดตัวนำอาจไม่ได้กดเข้าหัวแนบสนิทดี, ไปเชื่อมต่อผิดพิน, หรือสายขาดเนื่องจากการใช้แรงกดย้ำหัวสาย เป็นต้น

แต่ถ้าสาเหตุไม่ได้เห็นชัดเจนที่จุดเข้าหัวแล้ว ก็อาจเป็นที่รอยตัดหรือสายเคเบิลขาด ซึ่งผลการทดสอบจะแสดงให้เห็นว่าความยาวของคู่สายหนึ่งสั้นกว่าคู่สายอื่นๆ หรืออาจเป็นไปได้ที่หัวต่อชำรุดเอง เป็นต้น

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/wire-map-testing-it-s-not-all-about-color