หน้าแรก Vendors COMMSCOPE RUCKUS บทความน่ารู้ : เครือข่ายไร้สาย 60 GHz: ทางเลือกใหม่ที่มาแทน LAN และ Fiber

บทความน่ารู้ : เครือข่ายไร้สาย 60 GHz: ทางเลือกใหม่ที่มาแทน LAN และ Fiber

แบ่งปัน

ถ้าคุณกำลังวางแผนที่จะโยกงบประมาณด้านไอทีจำนวนมากเพื่อไปใช้กับการติดตั้งหรือยกระดับระบบสายเคเบิลแบบทองแดง สายไฟเบอร์ หรือระบบสัญญาณไมโครเวฟแกนหลักเบื้องหลังที่ยังใช้เทคโนโลยีเดิมๆ อยู่แล้วล่ะก็ ไม่ควรพลาดที่จะอ่านเรื่องราวต่อไปนี้:

เราได้เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Wi-Fi ที่เข้ามาแทนที่สายเคเบิลแบบ Category 5e/6 ในส่วน Access ของเครือข่ายที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ปลายทางของเราๆ กันมาแล้ว และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีและมาตรฐานสัญญาณไร้สายใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่ที่สูงถึง 60 GHz ที่หลายคนต่างคาดหวังจะเข้ามาแทนที่สายเคเบิลในส่วนแกนหลักของเครือข่ายระดับองค์กรด้วยเช่นกัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เรามาเริ่มต้นจากพัฒนาการของย่านความถี่ไร้สาย 60 GHz ตั้งแต่การจัดสรรคลื่นความถี่และการพัฒนามาตรฐาน จากนั้นมาดูต่อว่าเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายเริ่มหันมาพัฒนาระบบเครือข่ายแกนหลักแบบไร้สายที่ยืดหยุ่นและคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างไรกันบ้าง โดยเฉพาะโซลูชั่นเครือข่ายแกนหลักที่มีการนำจุดเด่นของสัญญาณไร้สายระดับ 60 GHz มาใช้อย่างชัดเจน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง

การเกิดขึ้นของย่านความถี่ 60 GHz ที่เปิดให้ใช้สาธารณะ

เกือบ 20 ปีก่อนนั้น ทาง FCC ได้กำหนดย่านความถี่ขนาดใหญ่ในช่วง 57 ถึง 64 GHz สำหรับให้ประชาชนนำมาใช้ได้อย่างอิสระโดยทั่วไป ต่อมาในปี 2006 ก็ได้ขยายขอบเขตขึ้นไปจนถึง 71 GHz ทำให้ช่วงย่านความถี่ดังกล่าวทั้ง 14 GHz ที่ถูกจัดสรรออกมานี้ถูกเรียกโดยทั่วไปว่าเป็นย่านความถี่ 60 GHz หรือย่านความถี่ไร้สาย IEEE V-band ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับย่านความถี่ที่ใช้สำหรับ Wi-Fi อย่างย่าน 2.4 และ 5 GHz หมายความว่า พื้นที่ในช่วงย่านความถี่ 60 GHz ที่ไม่ได้จดทะเบียนให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของนี้ ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้อย่างอิสระไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือทางการค้า

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องสังเกตด้วยว่าย่านความถี่ไร้สาย 2.4 และ 5 GHz เดิมนั้นค่อนข้างแตกต่างจาก 60 GHz ใหม่มากในแง่ของความสามารถในการสื่อสาร เนื่องจาก 60 GHz ถือว่าเป็นย่านความถี่ไร้สายที่สูงกว่าเดิมมาก ทำให้ส่งต่อข้อมูลได้เร็วกว่าเยอะมากด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ย่านความถี่ V-band นี้ได้ถูกกำหนดแบ่งช่องสัญญาณเป็น 6 ช่อง แต่ละช่องมีขนาดมากถึง 2.16 GHz ด้วย ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านประสิทธิภาพการทำงานระดับมหาศาลที่สามารถเป็นไปได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ 60 GHz ที่มีในปัจจุบันสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 6.3 Gbps ในโหมด Full-Duplex และแน่นอนว่าความก้าวหน้าในอนาคตย่อมทำให้ได้ตัวเลขทรูพุตที่สูงกว่านี้ได้อีก

แต่ความถี่นั้นยิ่งสูงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีจุดอ่อนตรงที่อ่อนไหวต่อการถูกดูดซับความยาวคลื่นจากวัตดุที่กีดขวางทางส่งสัญญาณมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการรับส่งสัญญาณไร้สายโดยทั่วไปได้แก่กำแพง พื้น เพดาน เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ผู้คน ดังนั้นลักษณะการแผ่กระจายของคลื่นไร้สายทะลุวัตถุต่างๆ ด้วยความถี่ 60 GHz นี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่หลายคนมักมองว่าย่านความถี่ดังกล่าวมีประโยชน์แค่การสื่อสารระยะใกล้ แค่ในระยะสายตาเท่านั้น แต่เมื่อคุณอ่านไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าปัญหานี้จะไม่ใช่อุปสรรคสำคัญอีกต่อไป

มาตรฐานไร้สายใหม่ 802.11ad/ay ที่เข้ามาปฏิวัติวงการไว-ไฟ

แม้ว่าทาง FCC จะจัดสรรย่านความถี่ 60 GHz ให้ทุกคนนำมาใช้งานได้อย่างอิสระมาเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ย่านความถี่นี้กลับถูกมองข้ามจากผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานเปิดสำหรับปฏิบัติตามในการพัฒนาชิปเซ็ตไร้สายที่เกี่ยวข้อง แต่ในปี 2012 ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อทาง IEEE ได้ปรับปรุงมาตรฐาน 802.11 เดิมที่มีอยู่โดยเพิ่มเรื่องเทคโนโลยี 60 GHz เข้ามา เกิดเป็นมาตรฐานใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ 802.11ad ที่เปิดให้ผู้ผลิตชิปไร้สายต่างๆ มีแนวทางที่จำเป็นสำหรับพัฒนาและจำหน่ายชิปให้สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายอื่นที่ได้ตามมาตรฐาน 802.11ad เดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ปัจจุบันทาง IEEE ยังกำลังทำงานเพื่อปรับปรุงมาตรฐาน 802.11ad มาเป็น 802.11ay ที่เพิ่มแบนด์วิธทางทฤษฎีขึ้นถึง 4 เท่า รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีอื่นเข้ามาอย่าง MIMO ให้ได้สตรีมรับส่งข้อมูลมากสุดถึง 8 สตรีม

กรณีใช้งานเครือข่ายไร้สาย 60 GHz ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

เมื่อองค์กรกลางอย่าง FCC และ IEEE ได้เปิดเวทีตลาดสำหรับย่านความถี่ 60 GHz ให้อย่างเป็นทางการทั้งการจัดสรรความถี่และการกำหนดมาตรฐานออกมาแล้ว เหล่าผู้ผลิตอย่างเช่น Commscope และ Lightpointe ต่างก็หันมาลงทุนกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครือข่ายไร้สายแบบ 60 GHz สำหรับใช้เชื่อมต่อแบบ Point-to-Point และ Point-to-Multipoint ภายนอกอาคารกันอย่างหนัก ซึ่งโซลูชั่นเหล่านี้เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีมากในการแทนที่การลากสายเคเบิลใต้ดินระหว่างอาคาร หรือแม้แต่การยกระดับโซลูชั่น P2P ที่ใช้คลื่นไมโครเวฟเดิมมาใช้เทคโนโลยีล่าสุด

แต่ถึงแม้ผลิตภัณฑ์เชื่อมต่อแกนหลักภายนอกอาคารจะเป็นตัวอย่างการนำย่านความถี่ใหม่มาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็มีธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมากที่เลือกมองโอกาสใหม่จากปัญหาและข้อจำกัดที่พบในระบบสายเคเบิลกายภาพในอาคารด้วย อย่างมีบริษัทหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาจากมุมมืดชื่อ Airvine ที่แอบซุ่มเงียบคว้าโอกาสดังกล่าวมาพัฒนาเป็นเวลานานกว่า 18 เดือนจนสามารถสร้างเครือข่ายไร้สายแบบ 60 GHz สำหรับใช้งานภายในอาคารได้อย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยให้บริษัททั้งหลายสามารถขยายระบบเครือข่ายแกนหลักเดิมของตัวเองได้ง่ายโดยไม่ต้องลากสายเพิ่ม ทั้งนี้ทาง Airvine ได้ใช้สารพัดเทคนิคในการพังทลายอุปสรรคที่เดิมเคยขัดขวางการใช้งานเคลื่นความถี่ไร้สายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยในด้านคลื่นวิทยุอย่างเช่น การจัดรูปร่างของลำคลื่น การคุมทิศทางการวิ่งของคลื่น และแก้ไขความผิดพลาดของการส่งต่อสัญญาณข้อมูล ไปจนถึงการเข้ารหัสบิทสัญญาณชั้นสูง จนทำให้ได้เครือข่ายอีเธอร์เน็ตไร้สายที่สามารถพุ่งทะลุผ่านวัตถุอุปสรรคต่างๆ และขยายความครอบคลุมสัญญาณได้ไกลกว่า 100 เมตร จนมองได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่การใช้สายเคเบิลได้โดยมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก

เตรียมพร้อมรับระบบ 60 GHz มาใช้ในองค์กร

ไม่ว่าธุรกิจของคุณกำลังมองหาโซลูชั่นแบ๊กโบนไร้สายสำหรับใช้ภายในหรือภายนอกอาคารก็ตาม ระบบ 60 GHz ก็ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ไม่มีงบประมาณหรือเวลามากเพียงพอในการลากสายเคเบิลใหม่ หรือเชื่อมต่อระหว่างอาคารแล้ว โซลูชั่นไร้สายระดับ 60 GHz ไม่เพียงให้ความยืดหยุ่นอย่างมากเท่านั้น แต่ยังให้ทรูพุตสูง พร้อมกับประสิทธิภาพที่ถูกยกระดับขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ในยุคที่สายเคเบิลแบบกายภาพในองค์กรอาจจะยังมีใช้งานอยู่นี้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไร้สายดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นว่าสายเคเบิลที่ยุ่งเหยิงต่างๆ อาจถูกกำจัดในอนาคตอันใกล้

ที่มา : Networkcomputing