หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic บทความน่ารู้ : เรื่องชวนปวดหัวเกี่ยวกับ Insertion Loss?

บทความน่ารู้ : เรื่องชวนปวดหัวเกี่ยวกับ Insertion Loss?

แบ่งปัน

เคยไหมที่คุณคำนวณค่าการสูญเสียของสัญญาณภายในสายตั้งแต่ช่วงการออกแบบไว้อย่างดี แต่พอมาทดสอบลิงค์ถาวรหลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยกลับพบว่า ช่องสัญญาณดังกล่าวไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ตั้งใจไว้

เมื่อคุณอ่านถึงบล็อกนี้ เราก็อนุมานได้ว่าคุณทราบเรื่องของค่าขีดจำกัดการสูญเสียรวมหรือ Loss Budget ที่ขึ้นกับรูปแบบการใช้งาน คำนวณจากการรวมค่าสูญเสียจากทุกองค์ประกอบบนช่องสัญญาณเดียวกัน พร้อมมีค่าเผื่อการสูญเสียพลังงานที่จะเกิดขึ้นในภายหลังตามเวลาอันเนื่องมาจากอายุของตัวส่งสัญญาณหรือการเชื่อมต่อสายที่ไม่สะอาด (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) รวมถึงน่าจะทราบความแตกต่างระหว่างการทดสอบลิงค์ถาวรกับตลอดทั้งช่องส่งสัญญาณด้วย (ศึกษาเพิ่มได้ที่นี่)

แต่สิ่งที่คุณไม่สามารถรู้ได้ทุกครั้งก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างที่อาจกระทบกับค่าการสูญเสียหลังจากติดตั้ง ทดสอบ หรือตรวจเทียบมาตรฐานลิงค์ถาวรเรียบร้อยแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องบันทึกและทำเอกสารเกี่ยวกับวิธีการคำนวณค่าความสูญเสีย ไปจนถึงผลการทดสอบลิงค์ถาวรขั้นสุดท้าย เพื่อให้รู้ได้ว่าอะไรมาทำให้ค่าการสูญเสียเพิ่มขึ้น หรือกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานภายหลังการติดตั้งและทดสอบ

ทบทวนความเข้าใจอย่างง่ายก่อน

ขณะที่คุณกำลังจะคำนวณค่าขีดจำกัดการสูญเสียรวมระหว่างขั้นตอนการออกแบบนั้น จำเป็นจะต้องทราบค่าขีดการสูญเสียของรูปแบบการใช้งานตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน IEEE เสียก่อน จากนั้นจึงพิจารณารวมกับทุกองค์ประกอบบนลิงค์ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟเบอร์, หัวต่อ, จุดเชื่อมสาย, จุดแยกสาย, ตัวขยายส่งต่อสัญญาณ ตัวอย่างเช่น ส่วนของหัวต่อจะมีค่าการสูญเสียที่ทางผู้ผลิตกำหนดไว้ (โดยทั่วไปคือ 0.2 ถึง 0.5dB) ส่วนตัวสปลิตเตอร์นั้น ค่าการสูญเสียจะขึ้นกับจำนวนสายที่ต่อออกมา เช่น สปลิตเตอร์แบบ 1:16 จะมีค่าการสูญเสียโดยทั่วไปอยู่ที่ 12dB ต่อพอร์ต ขณะที่สปลิตเตอร์แบบ 1:32 จะมีค่าการสูญเสียอยู่ประมาณ 15dB ต่อพอร์ต ส่วนของสไปลซ์นั้น ค่าการสูญเสียอาจต่ำสุดได้ที่ 0.1dB แต่แนะนำให้คำนวณท่ามากสุดที่ 0.3dB เตื่องจากค่าการสูญเสียนี้ขึ้นกับความเชี่ยวชาญในการสไปลซ์หรือเชื่อมสายไฟเบอร์ของช่างแต่ละคน

และเนื่องจากค่าการสูญเสียของการส่งสัญาณในสายหรือ Insertion loss นั้นขึ้นกับความยาวด้วย จึงต้องนำความยาวของสายมาอยู่ในการคิดค่าขีดจำกัดความสูญเสียรวมด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าค่าการสูญเสียของแสงเลเซอร์บนสายไฟเบอร์แบบมัลติโหมดแบบ OM4 คือ 3dB/กม. ที่ความยาวคลื่น 850 นาโนเมตรแล้ว สามารถคำนวณเฉลี่ยได้เป็น 0.003dB ต่อเมตร ซึ่งถ้าสายไฟเบอร์ของคุณยาว 50 เมตร ค่าความสูญเสียจากสายเคเบิลนี้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.15dB หรือถ้าสายยาว 100 เมตร ค่าการสูญเสียส่วนนี้ก็จะอยู่ที่ 0.3dB

เรายังต้องพิจารณาถึงอุปกรณ์ที่ทำงานบนลิงค์ด้วย โดยอิงตามสเปกของอุปกรณ์ที่มาจากผู้ผลิตซึ่งขึ้นกับความแตกต่างระหว่างตัวส่งและตัวรับสัญญาณ รวมไปถึงค่าส่วนต่างที่พิจารณาจากการสูญเสียพลังงานระหว่างการใช้งานเป็นเวลานานที่มีสาเหตุมาจากการเสื่อมอายุของตัวส่งสัญญาณด้วย

เมื่อคุณคำนวณค่าการสูญเสียเสร็จ และพร้อมที่จะทดสอบไม่ว่าจะใช้แหล่งกำเนินแสงพร้อมตัวทดสอบพลังงานอย่างเช่นเครื่อง Fluke Networks SimpliFiber® Pro ของคุณ หรือจะใช้ชุดทดสอบค่าการสูญเสียของแสงหรือ OLTS อย่างเช่น Fluke Networks CertiFiber® Pro ก็ตาม ก็จำเป็นต้องเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังทดสอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่องสัญญาณหรือแชนแนลตลอดทางแบบ End-to-End หรือทดสอบในส่วนของลิงค์ถาวร แม้บางคนจะถนัดทดสอบแชนแนลเนื่องจากทำให้ผลการทดสอบผ่านได้ง่าย แต่เราแนะนำให้ทดสอบตัวลิงค์ถาวรมากกว่าเนื่องจากถือเป็นรากฐานที่แท้จริงของเครือข่ายคุณ ขณะที่พวกสายเคเบิลสั้นที่ต่อกับอุปกรณ์ส่วนปลายลิงค์มักมีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ถ้าคุณทดสอบตัวแชนแนลที่ครอบทั้งหมดไว้ ก็อาจมองข้ามปัญหาที่เกิดอยู่บนตัวรากฐานของลิงค์อย่างส่วนลิงค์ติดตั้งถาวรได้

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น

ถ้าคุณคำนวณอย่างถูกต้อง ทดสอบลิงค์ถาวรแล้วผ่าน ก็อาจตีความได้ว่าแชนแนลดังกล่าวทำงานได้ตามที่หวังไว้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกค้าตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบที่ความเร็วสูงกว่าเดิม อย่างเช่นจาก 10 กิกะบิตมาเป็น 50 กิกะบิต หรือถ้าเกิดต้องการเพิ่มการเชื่อมต่อด้วยการลากสายเชื่อมต่อเพิ่มแบบข้าม หรือแม้แต่การคิดที่จะเอาสวิตช์ที่เชื่อมอยู่ตรงกลางออกแล้วเอาลิงค์ถาวรสองลิงค์มาเชื่อมกันเป็นลิงค์เดียวกันที่ยาวกว่าเดิม หรือแม้แต่กรณีที่ไม่สามารถรักษาหน้าตัดของสายไฟเบอร์ให้สะอาดระหว่างเคลื่อนย้าย เพิ่ม หรือเปลี่ยนสายได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำงานกลับมามีปัญหาได้แม้คุณจะติดตั้งและทดสอบลิงค์เป็นอย่างดีไว้ก่อนหน้าแล้ว

ประการแรกเลย รูปแบบมาตรฐานการใช้งานที่แตกต่างกันล้วนมีค่าขีดจำกัดการสูญเสียที่ต่างกันด้วย ถ้าลูกค้าของคุณวางแผนที่จะเปลี่ยนลิงค์เดิมใดๆ มาใช้ความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีค่าขีดจำกัดการสูญเสียที่เข้มงวดขึ้นแล้ว คุณก็จำเป็นต้องใช้ค่าขีดจำกัดที่ตรงกับความเร็วระดับสูงกว่าที่เป็นไปได้มาใช้พิจารณาในการคำนวณระหว่างขั้นตอนการออกแบบแต่แรก แต่สุดท้ายก็ต้องมีโอกาสที่ลูกค้าที่ตั้งแต่แรกยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะอัพเกรดไปใช้ความเร็วที่สูงขึ้นในอนาคตกลับมาเปลี่ยนใจทีหลัง อย่างเช่น ถ้าคุณออกแบบระบบที่ใช้สายไฟเบอร์มัลติโหมดสำหรับแบนด์วิธ 10 กิกะบิต (10GBASE-SR) ค่าการสูญเสียของการส่งสัญญาณหรือ Insertion Loss ตลอดช่องสัญญาณทั้งหมดที่มากสุดที่มีได้คือ 2.9dB ต่อสายไฟเบอร์มัลติโหมด OM4 ความยาว 400 เมตร แต่ถ้าลูกค้าตัดสินใจอัพเกรดขึ้นเป็นระบบมัลติโหมดที่ความเร็ว 40 กิกะบิตต่อวินาทีหรือ (40GBASE-SR4) แล้ว ค่าการสูญเสียสัญญาณในแชนแนลที่มากสุดจะเหลือแค่ 1.5dB ต่อ 150 เมตรของสาย OM4 ดังนั้น รู้หรือยังว่าการอัพเกรดระบบที่ไม่ได้วางแผนเตรียมการล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาขนาดไหนถ้าตอนออกแบบระบบมองไว้เพียงแค่ระดับ 10 กิ๊ก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งคุณและลูกค้าของคุณจะต้องตกลงกันล่วงหน้าว่าจะใช้รูปแบบมาตรฐานการใช้งานใดมากำหนดค่าขีดจำกัดการสูญเสียรวม ที่รองรับทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ต่อมาลองดูกรณีที่ลูกค้าคุณอยากอัพเกรดระบบเพื่อความง่ายต่อการจัดการ เช่น การเพิ่มแผงเชื่อมต่อสายหรือ Patch Panel เพื่อจัดการเชื่อมต่อข้ามกันบริเวณสวิตช์ ซึ่งถ้าลูกค้าติดตั้งเพิ่มหลังจากที่คุณคำนวณ ติดตั้ง และทดสอบลิงค์ที่คิดเพียงการเชื่อมต่อระหว่างกันไปแล้ว ก็จำเป็นต้องนำจุดเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น และค่าการสูญเสียเพิ่มเติมมาพิจารณาอีกครั้งด้วย แม้จะดูเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่เรากำลังพูดถึงค่าขีดจำกัดการสูญเสียสัญญาณภายในสายที่ตั้งไว้อย่างเข้มงวด การเพิ่มอีกแค่ 0.2dB จากการเชื่อมต่อใหม่แค่หนึ่งลิงค์ก็อาจทำให้เกิดขีดจำกัดที่ออกแบบไว้จนเกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานได้

แม้ดูเผินๆ การนำลิงค์ถาวรสองลิงค์ที่ต่างก็ผ่านการทดสอบค่าการสูญเสียการส่งสัญญาณแล้วมาเชื่อมต่อด้วยกันก็น่าจะผ่านการทดสอบได้ด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เสมอไป สมมติถ้าคุณติดตั้งและทดสอบลิงค์ถาวรในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ลากจากแผงเชื่อมต่อที่คอร์สวิตช์ไปยังแผงเชื่อมต่อที่สวิตช์ระดับ Intermediate และลิงค์ถาวรอีกลิงค์หนึ่งที่เชื่อมจากจุดดังกล่าวไปยังแผงเชื่อมต่อที่สวิตช์แอคเซสในตู้เซิร์ฟเวอร์ แล้วต่อมาเกิดเอาสวิตช์ที่อยู่ตรงกลางออก เอาสองลิงค์ถาวรมาเชื่อมเป็นลิงค์เดียวกันแล้ว ย่อมเป็นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อ รวมทั้งความยาวของลิงค์รวมใหม่ก็อาจทำให้ค่าการสูญเสียพุ่งเกินขีดจำกัดได้

ยังมีเรื่องของความสะอาดบนหน้าตัดของสายไฟเบอร์ ถ้าลูกค้าของคุณปรับย้าย เพิ่ม เปลี่ยนแปลง หรือดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับพอร์ตไฟเบอร์อยู่บ่อยครั้งโดยไม่ได้ทำความสะอาดหรือตรวจสอบหน้าตัดอย่างถูกวิธี หน้าตัดสายที่เคยสะอาดตั้งแต่ตอนที่ติดตั้งอาจกลับมาสกปรกจนเพิ่มค่าการสูญเสียให้แชนแนลส่งสัญญาณได้

วิธีแก้เรื่องปวดหัวอย่างชะงัด

แน่นอนว่าคุณต้องการให้ลูกค้ามีความสุข ได้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงตลอดไป แต่จะทำอย่างไรให้ได้สิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนจนเกิดค่าใช้จ่ายบานปลายทีหลัง

เวลาคำนวณค่าขีดจำกัดการสูญเสียรวมทั้งหมดที่ยอมรับได้หรือ Loss Budget นั้น คุณจำเป็นต้องทราบรูปแบบหรือมาตรฐานที่จะนำไปใช้งาน “ทั้งที่วางแผนไว้ และโอกาสที่จะเกิดในอนาคต” รวมถึงข้อมูลอย่างความยาวสายไฟเบอร์ จำนวนการเชื่อมต่อ ค่าการสูญเสียที่ทางผู้จำหน่ายระบุไว้สำหรับแต่ละองค์ประกอบ ไปจนถึงการคำนวณทางคณิตศาสตร์อีกเล็กน้อย แม้ผู้จำหน่ายสายเคเบิลจะให้วิธีการคำนวณค่าการสูญเสียสำหรับผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาให้ แต่เราก็สามารถใช้อุปกรณ์อย่าง Fluke Network CertiFiber® Pro OLTS (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบตรวจเทียบมาตรฐาน Versiv™) ร่วมกับบริการผ่านคลาวด์ LinkWare™ Live หรือแม้แต่ระบบคำนวณค่าการสูญเสียบนลิงค์ SYSTIMAX® จาก CommScope ที่แสดงค่าการสูญเสียที่ตรวจได้แม้จะมีค่าต่ำมาก แสดงเข้ามาในอุปกรณ์ทดสอบโดยตรง

เมื่อมีการวางระบบสายเคเบิลและทดสอบค่าการสูญเสียการส่งสัญญาณเรียบร้อยแล้ว ให้แน่ใจว่าลูกค้าทราบเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกทดสอบ รายละเอียดผลการทดสอบ ค่าส่วนต่างที่เผื่อไว้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัพเกรดไปใช้ความเร็วสูงขึ้น จากการเพิ่มจุดเชื่อมต่อ หรือสิ่งที่เกิดจากการทำให้หน้าตัดสายไฟเบอร์สกปรกในอนาคต และต้องมั่นใจว่าคุณทำรายงานเอกสารบันทึกทุกอย่างไว้อย่างดีสำหรับกรณีถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่ลูกค้าอาจอ้างว่ามาจากการติดตั้งหรือทดสอบค่าการสูญเสียที่ผิดพลาดของคุณ การตรวจรับรองระบบสายเคเบิลที่ติดตั้งไว้ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ป้องกันตัวเองได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการทำบันทึกผลการทดสอบของคุณ (และค่าพารามิเตอร์ที่ใช้ทดสอบ) แล้วอัพโหลด จัดการ เก็บผลทดสอบอย่างเป็นระเบียบผ่านบริการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะอย่าง LinkWare™ Live เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Fluke Networks