หน้าแรก Networking & Wireless 6 ทักษะด้านเน็ตเวิร์กสุดฮอตประจำปี 2020 ที่ควรฝึกปรือให้เชี่ยวชาญ

6 ทักษะด้านเน็ตเวิร์กสุดฮอตประจำปี 2020 ที่ควรฝึกปรือให้เชี่ยวชาญ

แบ่งปัน

การเป็นแอดมินด้านเครือข่ายในปี 2020 นั้นมักต้องการทักษะที่ก้าวไปไกล นำหน้าไปกว่าสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็น “ความสามารถพื้นฐานที่ควรมี” ซึ่งเรื่องพื้นฐานดังกล่าวมักเกี่ยวกับเราท์ติ้ง, สวิตชิ่ง, Wi-Fi, การเข้าถึงจากระยะไกล, และการรักษาความความปลอดภัยให้อุปกรณ์เครือข่ายขั้นพื้นฐาน แต่ผู้ที่ฝึกฝนทักษะพื้นฐานเหล่านี้จนเชี่ยวชาญแล้ว หลายคนมักสงสัยว่าควรหาทักษะด้านไหนอื่นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่แค่น่าสนใจ แต่ยังต้องมีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในอนาคตด้วย ดังนั้น เราลองมาดูทักษะเน็ตเวิร์กระดับองค์กรที่กำลังฮอตฮิต 6 ด้านด้วยกัน ที่เหล่าผู้คร่ำหวอดในวงการต่างใฝ่ฝันที่จะประดับบนโปรไฟล์ของตนเองดังต่อไปนี้

01 ด้านความปลอดภัยบนเครือข่าย

แม้ผู้ที่ทำงานด้านไอทีหลายคนต่างพยายามไขว่คว้าทักษะด้านระบบความปลอดภัยไอทีหลากหลายประเภทที่สามารถครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดนั้น คุณเองอาจจะลองจำกัดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยเน็ตเวิร์กดูก็ได้ เนื่องจากโลกของระบบความปลอดภัยด้านไอทีมีการเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ยากขึ้นมากในการเป็นผู้เชี่ยวชาญกับทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการให้ความสำคัญเฉพาะกับเครื่องมือและกระบวนการที่ปกป้องเครือข่าย, เครือข่ายส่วน Edge, และข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายแทน

02 ระบบออโตเมชั่น การผสานการทำงาน และการควบคุมระหว่างกันบนเครือข่าย

ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหล่าแอดมินเน็ตเวิร์กจำเป็นต้องมีทักษะด้านการเขียนโปรแกรมมาบ้าง แต่เนื่องจากฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านเน็ตเวิร์กขององค์กรส่วนใหญ่มักยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งอยู่แล้ว ทำให้แอดมินถูกจำกัดทักษะการตั้งค่าระบบแค่กับอุปกรณ์ของผู้ผลิตที่ดูแลอยู่เท่านั้น จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ลูกค้าหลายรายเริ่มหันมามองทางเลือกอื่นที่เป็นโอเพ่นซอร์สแทน ที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่ากับทั้งการผสานการทำงานระหว่างอุปกรณ์เครือข่าย การทำระบบอัตโนมัติ หรือแม้แต่เรื่องการควบคุมดูแลให้ครอบคลุมทั้งหมดจากศูนย์กลาง จนทำให้ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ๆ ต่างเริ่มเอาเทรนด์นี้เป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมกับเปิดความสามารถให้ผู้ใช้งานปลายทางสามารถเขียนโปรแกรมกับซอฟต์แวร์ส่วนสำคัญของตัวเองได้ ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านเน็ตเวิร์กได้หนทางในการปรับแต่งทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านเน็ตเวิร์กมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการยกระดับทั้งประสิทธิภาพการทำงาน, การแบ่งปันข้อมูลร่วมกับอุปกรณ์อื่นบนเครือข่าย, และสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับงานจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ทำเท่านั้น

03 การสื่อสารแบบยูนิฟายด์

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Unified Communication (UC) ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะการย้ายระบบ UC ออกจากโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรขึ้นไปสู่บนคลาวด์แทน ร่วมกับความก้าวหน้าทั้งด้านการสตรีมมิ่งวิดีโอ, ทูลคอลลาบอเรต, หรือการผสานการทำงานด้านประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าหรือ CX ที่มี AI ช่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ต่างทำให้ยิ่งต้องการผู้ที่เชี่ยวชาญด้าน UC ที่มีประสบการณ์ด้านเครือข่ายระดับองค์กรที่แข็งแกร่งมากขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ UC เป็นที่น่าดึงดูดสำหรับชาวเน็ตเวิร์กในปี 2020 มากขึ้นไปอีกก็คือ พวกเราส่วนใหญ่สามารถก้าวข้ามการเสียเวลาทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีล้าสมัยด้านโทรคมนาคมอย่างสายโทรศัพทPOTS หรือวงจร T1 ได้แล้ว โดยปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยทรังค์แบบ Session Initiation Protocol (SIP) ที่ทำงานบนเครือข่ายไอพีอีกทีหนึ่ง

04 การมองเห็นเครือข่าย

แอดมินด้านเครือข่ายส่วนใหญ่มีพื้นฐานด้านเครื่องมือตรวจสอบสถานะเครือข่ายกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ SNMP, Syslog, หรือแม้แต่ NetFlow/IPFIX ที่ช่วยให้แอดมินนำข้อมูลมาผสานเข้าด้วยกันเป็นมุมมองพื้นฐานของเครือข่ายที่ยังไม่ได้มีระบบการตรวจสอบจากศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี แม้จะมีความช่วยเหลือจากเครื่องมือเหล่านี้ ก็ยังมีช่องโหว่ของความสามารถในการมองเห็นที่ใหญ่มาก ที่สามารถซ่อนปัญหาด้านประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัยของเครือข่ายไม่ให้เราเห็นได้อยู่ ซึ่งเรามีอยู่สองทางเลือกที่จะได้ความสามารถในการมองเห็นเพิ่มเติมนี้ แต่ทั้งสองวิธีต่างต้องฝึกฝนทักษะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

แนวทางแรกคือการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เครือข่ายหรือ Network Analytic (NA) สมัยใหม่ ที่สามารถดึงข้อมูลสถานะเครือข่ายที่ละเอียดสูงจากหลายแหล่งข้อมูลทั่วทั้งเครือข่ายได้ วิธีนี้ดีมากสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมเครือข่ายแบบเก่าที่ข้อมูลด้านเราท์ติ้งและสวิตชิ่งถูกออกแบบให้ส่งต่อออกมาทั่วทุกอุปกรณ์เครือข่ายแบบ Hop-by-Hop ซึ่งทูล NA ยุคใหม่จะใช้เทคโนโลยีสมองกล (AI) เพื่อคัดกรองข้อมูลที่รวบรวมมาปริมาณมหาศาล เพื่อเลือกเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ที่ให้มุมมอง “หนึ่งเดียวที่ชัดเจน” ของเครือข่ายสำหรับแอดมินที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้

ส่วนอีกวิธีในการได้ความสามารถในการมองเห็นเน็ตเวิร์กเพิ่มขึ้นก็คือ การย้ายจากเครือข่ายที่รวมข้อมูลไว้ที่ระบบศูนย์กลางมาเป็นผ่านหน้าควบคุมหนึ่งเดียว ซึ่งมีทั้งโซลูชั่นที่ทำงานบนสถาปัตยกรรม Software-Defined Networking (SDN) และ Intent-Based Networking (IBN) โดยจะทำให้ได้แหล่งข้อมูลการมองเห็นจากปลายด้านหนึ่งของเครือข่ายไปถึงอีกด้านหนึ่งได้

05 การเชื่อมต่อระหว่าง WAN และคลาวด์

เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของอุปกรณ์ IoT อย่างรวดเร็วมากที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายองค์กรในช่วงทศวรรษข้างหน้า ทำให้ทั้งแอดมินและสถาปนิกด้านเครือข่ายจำเป็นต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายที่กระจายออกจากศูนย์กลาง และไร้พรมแดนมากขึ้น ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับด้านนี้ได้แก่ SD-WAN, การใช้การเชื่อมต่อแบบ LTE/5G, และการปรับปรุงประสิทธิภาพเครือข่ายแบบไฮบริดจ์และมัลติคลาวด์

06 คำเตือน: อย่าข้ามความรู้พื้นฐาน

แม้การเชี่ยวชาญในด้านที่จำเพาะจากเรื่องที่เกี่ยวกับเน็ตเวิร์กทั้งหมดในภาพรวมที่ทำให้คุณกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” ภายในทีมงานของคุณนั้นจะฟังดูน่าสนใจมากเพียงใด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ ทักษะใหม่ๆ ที่เรียนรู้เพื่อเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้จะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งรองรับไว้เสมอ ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าคุณไม่ได้เรียนรู้ทักษะที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านี้เร็วเกินไป ไม่งั้นในที่สุดก็จะติดกับการทำความเข้าใจว่า “ทำไม และทำอย่างไร” ของการเรียนรู้ทักษะจำเพาะพวกนี้โดยขาดความรู้พื้นฐานด้านเครือข่าย ดังนั้น จึงแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้คุณเริ่มเรียนรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเมื่อคุณรู้สึกว่ามีความรู้ในหลักการเครือข่ายพื้นฐานแน่นเพียงพอแล้วเท่านั้น

ที่มา : Networkcomputing