การเติบโตของอินเทอร์เน็ตนั้นต่างให้ประโยชน์ด้านการศึกษาแก่พวกเรามากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งยังทำให้ผู้คนตกเป็นเป้าของแฮ็กเกอร์และโจรที่จ้องขโมยข้อมูลความลับต่างๆ ด้วย จึงเป็นเหตุที่นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในระดับหนึ่ง
ปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาเกือบทุกคนต่างเป็นเจ้าของอุปกรณ์พกพาหรือแล็ปท็อปกันหมด ซึ่งความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีระดับนี้ทำให้มีสถิติของการโดนจารกรรมข้อมูลในกลุ่มวัยรุ่นของอเมริกากว่า 55% โดยอยู่ในช่วงอายุ 18 – 29 ปี
ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับเคล็ดลับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าคุณยังต้องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวหรือแม้แต่งานเขียนทางวิชาการจากการโจมตีทางไซเบอร์
ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่อาจลบข้อมูลเปเปอร์ของคุณ หรือการที่โจรบนโลกไซเบอร์ขโมยตัวตนของคุณไป แม้แต่บางทีอดีตเพื่อนรักหรือคนรักที่กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตจะเข้ามาทำลายชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ของคุณ ทุกอย่างถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั้งสิ้น
นักเรียนหลายคนมักคิดว่าโรงเรียนของตัวเองรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ดีแล้ว แต่อันทีจริง ฝ่ายไอทีของสถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการขจัดอันตรายและป้องกันเครือข่ายของโรงเรียนจากการล่มเป็นหลัก และมักไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงควรพิจารณาวิธีรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างง่ายดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีทางการเงินอยู่เสมอ
หลายคนในยุคนี้สามารถเข้าถึงสเตตเมนท์ธนาคารของตัวเอง หรือได้รับในรูปออนไลน์ได้ทุกสิ้นเดือน ก็แนะนำให้คอยตรวจสอบรายการเดินบัญชีให้บ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
2. สำรองข้อมูลทั้งหมดของคุณ
วิธีที่ดีที่สุดในการยกระดับความปลอดภัยคอมพิวเตอร์คือ การแบ๊กอัพข้อมูลที่อยู่บนอุปกรณ์ของคุณ ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกหลากหลายวิธี เช่น เก็บบนคลาวด์หรือเอ็กซ์เทอนอลที่ปลอดภัย
3. อย่าคลิกทุกอย่างที่มองเห็น
ให้คิดหลายครั้งก่อนจะคลิกทุกอย่างที่คุณอยากคลิก โดยเฉพาะถ้าบางอย่างอ่านดูแล้วดูดีเกินไป ก็มักจะดีเกินกว่าที่จะปลอดภัยจริงๆ
4. ระวังการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ
คุณอาจพกอุปกรณ์ส่วนตัวไปทุกที่ที่คุณไป แต่บางแห่งอย่างห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็มักมีคอมพิวเตอร์สาธารณะให้เลือกใช้ ซึ่งควรใช้อย่างฉลาด ไม่บันทึกรหัสผ่าน ล็อกเอาต์จากบัญชีส่วนตัวให้เรียบร้อย
5. อย่ากดซื้อสินค้าบนเว็บที่ดูแปลก
หลายคนติดการช็อปออนไลน์ ซึ่งหลายเว็บมักมีทางเลือกให้ช็อปมากกว่าร้านค้าข้างนอกเสียอีก อย่างไรก็ดี ทุกอย่างที่ดูดีนั้นไม่จำเป็นว่าของจริงจะดูดีเหมือนกัน และไม่ใช่ว่าทุกเว็บปลอดภัย
6. ระวังเว็บที่คุณแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว
แม้แต่ในเวลาที่คุณต้องการแลกเปลี่ยนกับของฟรี เช่น หนังสือเคล็ดลับการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เหมาะสม ก็จงอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตอนลงทะเบียนจนกว่าจะแน่ใจว่าเว็บปลอดภัยจริง
7. ทำให้ระบบความปลอดภัยที่ใช้อัพเดทอยู่เสมอ
ถ้าคุณยังไม่มีระบบความปลอดภัย ให้รีบเอามาใช้ทันที ตอนนี้มีแอนตี้ไวรัสที่ราคาย่อมเยาหรือแม้แต่ให้ใช้งานฟรีอยู่หลายตัวที่สามารถรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลคุณได้
8. ลงทะเบียนอุปกรณ์ของคุณ
การลงทะเบียนอุปกรณ์ถือเป็นวิธีที่ฉลาด เช่น ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสที่อุปกรณ์ที่หายไปจะได้กลับคืนมา หรือใช้อ้างอิงเวลาแจ้งความ
9. เปิดใช้ฟีเจอร์ “Find my Phone”
โทรศัพท์สมัยใหม่ต่างมีฟีเจอร์ที่สามารถให้คุณตรวจสอบตำแหน่งของโทรศัพท์เวลาที่ทำหายได้ รวมทั้งยังมีแอพลักษณะนี้ให้ดาวน์โหลดมากมาย
ที่มา : GBHacker