เอไอเอส เดินหน้าตอกย้ำผู้นำด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยี เคลื่อนทัพสู่แดนมโนราห์ นำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลแห่งยุคเข้าไปเสริมแกร่งภาคใต้ พร้อมร่วมกับ กสทช. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวและสาธิตนวัตกรรมต้นแบบที่ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยจากเทคโนโลยี 5G บนสภาพแวดล้อมจริง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า การลงพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความพร้อมด้านบุคลากรในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เอไอเอสได้ให้ความสำคัญกับการนำ Digital Infrastructure เข้ามาเสริมแกร่งให้กับคนในพื้นที่ ภายใต้การพัฒนาเครือข่าย 3G และ 4G ให้ครอบคลุมแล้วกว่า 1,083 ตำบล ทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้, การขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ชาวใต้เข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว กว่า 4,000 จุด และการออกแบบแพ็กเกจและโปรโมชั่นมือถือ รวมถึงคัดสรรคอนเทนท์ความบันเทิงและสิทธิพิเศษที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่ภาคใต้เป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนลูกค้า 5.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วน 14% ของฐานลูกค้าทั่วประเทศ
ล่าสุดได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทดลอง ทดสอบ ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 28 GHz ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทดสอบ 5G ในภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. โดยดึงจุดเด่นของอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ โอกาส ความสนใจ และบริบททางสังคมของภาคใต้เป็นตัวกำหนด ภายใต้แนวคิด “Smart City, Smart Living” ระบบต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ผ่านการสาธิตการควบคุมรถไร้คนขับแบบข้ามภูมิภาค จากกรุงเทพฯ ถึง จังหวัดสงขลา ในรูปแบบไลฟ์บรอดแคสต์ เป็นครั้งแรกของไทย โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมสาธิตระบบการสื่อสารระหว่างรถต่อรถ ผ่าน 5G ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ศึกษาประสิทธิภาพของ 5G ในทุกมิติสำคัญ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ในเรื่อง IoT, Big Data, และระบบปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้ชื่อ Smart City Model in Campus เพื่อจัดทำระบบต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการพัฒนาและปรับตัวเองให้เข้ากับยุค Digital disruption อาทิ ใช้ระบบ Smart street light ในการใช้ระบบไฟส่องสว่างบนถนน, ติดตั้งระบบสื่อสารข้อมูลดิจิทัลผ่านเครือข่ายคลาวด์และป้ายสื่อสารแบบดิจิทัล, พัฒนารถ EV ฯลฯ
โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เราทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ผ่าน Use Case ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และ Use Case ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็น Cross cutting technology platform ที่สำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Bioeconomy Circular economy และ Green economy หรือ BCG Model รวมถึงการพัฒนาโจทย์เชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน”
ที่มา : ข่าวพีอาร์