เป็นข่าวฮือฮาล่าสุดที่เมื่อเช้า (ตามเวลาประเทศไทย 20 พ.ค. ประมาณ 08.00 น.) ทาง Google ได้ประกาศว่าจะแบน Huawei (หัวเว่ย) จากสิทธิ์การใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ รวมถึงข่าวที่ทางบริษัทชิปต่างๆ เช่น Intel, Qualcomm, Broadcom, Xilinx อาจจะมีการหยุดผลิตชิปสำหรับหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ต้องบอว่ามันมีที่มาที่ไปและมหากาพย์มาสักระยะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง หัวเว่ย และ อเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าอเมริกานั้น ทรัมป์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งและประกาศแบนหัวเว่ยมาโดยตลอด ตั้งแต่หน่วยงานรัฐทั้งหลายของอเมริกา เรื่อยมาจนกระทั่งลามไปยังบริษัทเอกชนทั้ง Google หรือบริษัทผลิตชิปสัญชาติอเมริกาในข้างต้น
Enterprise ITPro จึงได้รวบรวมเอาเรื่องราวข้อขัดแย้งครั้่งนี้ (โดยจะยึดตามวันและเวลาที่ทาง Enterprise ITPro ได้นำเสนอข่าว) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันว่าช่วงเวลาใดเกิดเหตุการณ์ใดกันเกิดขึ้น โดยมหากาพย์ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่
17 พ.ย. 2016
นสพ.นิวยอร์กไทม์ ได้ลงข่าวว่ามีอุปกรณ์แอนดรอยด์กว่า 700 ล้านเครื่องรันซอฟต์แวร์ AdUps และส่งข้อมูลลับๆ กลับไปยังจีน ซึ่ง Huawei เองก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ใช้ AdUps – จุดนี้ทางการสหรัฐยังไม่ระบุแน่ชัดว่ามีวัตถุประสงค์ใด
8 ธ.ค. 2018
ต้องบอกว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเลยทีเดียว โดยหัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการเงินหรือ CFO ของ Huawei นาง Meng Wanzhou ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei ถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐฯ ว่าจงใจปิดบังข้อเท็จจริงที่บริษัทมีความสัมพันธ์กับองค์กรที่กำลังจำหน่ายอุปกรณ์ให้อิหร่านอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคว่ำบาตร พร้อมปฏิเสธการให้ประกันตัวระหว่างรอส่งมอบผู้ร้ายข้ามแดน
8 ธ.ค. 2018
พันธมิตรของสหรัฐอเมริการหลายราย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และอังกฤษ เหมือนจะอยู่ข้างเดียวกับอเมริกา โดยญี่ปุ่นก็ได้ประกาศระงับการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ด้านโทรคมนาคมจากบริษัทของจีน ทั้ง Huawei Technologies และ ZTE Corp ด้านออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็สั่งระงับไม่ให้ Huawei วางเครือข่าย 5G ในประเทศด้วย ส่วนในอังกฤษนั้น ทาง BT Group ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่ากำลังถอดอุปกรณ์ของ Huawei ออกจากคอร์หลักของสถานีให้บริการเครือข่าย 3G และ 4G
11 ธ.ค. 2018
นิวซีแลนด์ ได้สั่งห้ามใช้ของจากบริษัท Huawei ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศที่ 3 ในกลุ่มพันธมิตรด้านความปลอดภัยของประเทศ “Five Eyes” ที่แบน Huawei
12 ธ.ค. 2018
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้เรียกตัวทูตสหรัฐฯ เข้าพบเพื่อ “ประท้วงอย่างรุนแรง” ต่อกรณีการจับกุมประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินหรือ CFO ระดับนานาชาติของ Huawei ในแคนาดา พร้อมทั้งเรียกร้องให้เพิกถอนหมายจับ นาง Meng Wanzhou ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei
15 ธ.ค. 2018
ผู้พิพากษาศาลฏีกาประจำรัฐบริติชแคนาดา William Ehrcke ได้ตัดสินใจให้ประกันตัว Meng Wanzhou ผู้เป็นทั้ง CFO และลูกสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย โดยตั้งเงินประกันไว้ที่ 10 ล้านเหรียญแคนาดา และให้ใส่ปลอกข้อเท้าติดตามตัว, ยึดพาสปอร์ต, จำกัดบริเวณอยู่แต่ภายในเมืองแวนคูเวอร์, และให้อยู่เฉพาะในบ้านหนึ่งในสองหลังของเธอในช่วงห้าทุ่มถึงหกโมงเช้า
29 ธ.ค. 2018
ทำเนียบขาวได้พิจารณาออกคำสั่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเป็นการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของอเมริกาซื้ออุปกรณ์จากบริษัทของจีน ซึ่งกระทบกับ Huawei และ ZTE ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลกโดยตรง
30 ธ.ค. 2018
ประธานบริษัท Huawei นาย Ken Hu ให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้แสดงหลักฐานที่กล่าวหาบริษัทว่าเป็นตัวร้าย โดยไม่จำเป็นว่าต้องเอามาโชว์ให้ Huawei หรือเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่อยากให้แสดงให้เหล่าบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ซื้อ Huawei โดยตรง
12 ม.ค. 2019
ทางการโปแลนด์ได้จับกุมผู้อำนวยการฝ่ายขายของ หัวเว่ย และอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยในข้อหากล่าวหาเกี่ยวกับประเด็นการสอดแนม
17 ม.ค. 2019
มร. เหริน เจิ้งเฟย ซึ่งน้อยครั้งจะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนว่า อุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัทอาจเปิดช่องให้รัฐบาลจีนเข้าถึงช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ (Backdoor) เพื่อเข้าไปยังระบบเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศ
8 มี.ค. 2019
หัวเว่ยได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา คัดค้านการเห็นชอบมาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ฉบับปี 2562 (2019 National Defense Authorization Act: NDAA) โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้ หัวเว่ยต้องการขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาแสดงสิทธิของบุคคลว่า การกีดกันที่พุ่งเป้าไปที่หัวเว่ยนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้มีคำสั่งห้ามกฎหมายกีดกันนี้เป็นการถาวร
23 เมษายน 2019
นายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ ไฟเขียวให้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากจีน (ซึ่งก็รวมหัวเว่ยด้วย) ช่วยสร้างเครือข่าย 5G ของอังกฤษ แม้จะได้รับคำเตือนจากสหรัฐอเมริกาและรัฐมนตรีหลายคนว่า การอนุญาตครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ
17 พ.ค. 2019
หัวเว่ย ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของสำนักงานด้านอุตสาหกรรมและความปลอดภัย (BIS) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การตัดสินใจนี้ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น และยังจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อบริษัทอเมริกาซึ่งหัวเว่ยทำธุรกิจด้วย รวมถึงตำแหน่งงานอีกหลายหมื่นตำแหน่ง
20 พ.ค. 2019
ผลจากคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้ Google เองจำเป็นต้องแบนผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Huawei จากการอัพเดทระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งกระทบกับบริษัทจีนรายนี้เป็นอย่างมาก โดยทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของหัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงแอพบางตัวของกูเกิ้ลได้
20 พ.ค. 2019
กลุ่มผู้ผลิตชิปอย่าง Intel Corp., Qualcomm Inc., Xilinx Inc.,และ Broadcom Inc. ที่มีข่าววงในว่าบริษัทเหล่านี้ประกาศกับพนักงานตนเองว่าจะไม่ผลิตให้กับหัวเว่ยจนกว่าจะมีประกาศอื่นออกมาเพิ่มเติม เช่นเดียวกับกรณี Google ของ Alphabet Inc.
ทีมข่าว Enterprise ITPro