งานด้านคอมพิวเตอร์ที่ฮอตฮิตที่สุดในยุคนี้หนีไม่พ้นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมมิ่ง เรียกว่าถนัดภาษาไหนก็ตามก็ไม่เกี่ยง แต่ความเป็นจริงคนที่อยู่ในสายคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนโค้ดเป็นหรืออินเลิฟกับการเขียนโปรแกรม หลายคนกลับมองว่าเป็นงานที่น่าเบื่อและชวนเครียดในการตามหาบั๊กด้วยซ้ำ
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เกลียดโค้ดเข้าไส้ ก็ยังมีโอกาสด้านอาชีพการงานอีกมากมายที่เหมาะกับคุณ แถมงานพวกนี้ยังสามารถเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นได้ด้วยตนเองบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วย อันได้แก่
1. นักออกแบบประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้หรือ UX
ตั้งเป้าหมายหลักในการยกระดับความพึงพอใจของผู้ใช้ มีหน้าที่หลักในการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ผ่านการสำรวจ, สัมภาษณ์, หรือการวิจัยด้วยวิธีต่างๆ พร้อมกับมองหาวิธีที่ดีที่สุดในการดีไซน์หรือวางโครงสร้างขององค์ประกอบต่างๆ ในเว็บไซต์หรือแอพ โดยอิงจากข้อมูล หรือการศึกษาจากโปรโตไทป์ เป็นต้น
2. นักออกแบบอินเทอร์เฟซสำหรับใช้งาน (UI)
คล้ายๆ กับคนออกแบบ UX แต่งาน UI จะเน้นที่ดีไซน์ของอินเทอร์เฟซโดยเฉพาะทั้งมุมมองและความรู้สึก ให้ผู้ใช้อย่างใช้งานและดูเป็นมิตร เนื้องานมักเป็นการวาดภาพแสดงหน้าตาของโปรแกรมในแต่ละขั้นตอนการใช้งาน เขียนให้อยู่ในรูปแผนภาพอธิบายโฟลว์การใช้งาน หรือสตอรี่บอร์ด
3. ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO (Search Engine Optimization)
เป็นงานคนทำเว็บทั้งหลายต้องการใช้บริการเพื่อให้แน่ใจว่าออกแบบเว็บที่เอื้อกับการติดอันดับเสิร์ชเอนจิ้นมากที่สุด หน้าที่หลักจะเป็นการเลื่อนอันดับการแสดงผลการค้นหาของเว็บไซต์ ซึ่งความต้องการของลูกค้ามีหลากหลายตั้งแต่ทราฟิกไปจนถึงการหาลูกค้าโดยตรง เป็นต้น
4. นักวิเคราะห์ข้อมูล
เป็นงานที่เติบโตเร็วมาก เหมาะกับคนชอบตัวเลขและข้อมูล โดยทำทั้งวิเคราะห์ข้อมูล, วิเคราะห์เทรนด์, รวบรวมและตีความ, วิเคราะห์ผล, มองหาลักษณะความเคลื่อนไหวและแนวโน้มในแต่ละชุดข้อมูล
5. นักทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ (SQT)
เป็นงานที่ใกล้เคียงกับงานด้านประกันคุณภาพหรือ QA แต่มักแย่งออกมาเป็นอีกหน่วยต่างหาก เพื่อคอยทดสอบคุณภาพของซอฟต์แวร์ก่อนวางจำหน่ายในทุกๆ ฟีเจอร์ว่าทำงานได้ตามปกติ โดยการทดสอบนั้นมีทั้งด้านกลไกการทำงาน, ด้านความเครียดในการใช้, การทดสอบการรองรับการเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้งาน อิงกับการใช้งานในหลากหลายสถานการณ์ของผู้ใช้ปลายทาง ส่วนใหญ่เป็นการพยายามทำให้ซอฟต์แวร์ “พัง” หรือใช้งานแบบผาดโผนมากๆ ให้แน่ใจว่าไม่มีบั๊กหลงเหลือ
ที่มา : Tecnotification