เทรนด์ไมโคร ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้เผยถึงถึงผลประกอบการประจำปี 2018 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา โดยมีรายได้สุทธิจำนวน 160,410 ล้านเยน สูงขึ้นจากปีก่อน 7.8% และมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 35,836 ล้านเยน โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) อยู่ที่ 22,980 ล้านเยน เติบโตถึง 20.2%
คุณปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ยกให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของความสำคัญที่จะต้องคำนึง โดยในปี 2018 ที่ผ่านมานั้น ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายในกับระบบไอทีขององค์กร การที่ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้กับภัยแรนซั่มแวร์ ภัยคุกคามที่ขโมยเงินดิจิทัลด้วยการฝั่งมัลแวร์แปลกๆ ลงในบราวเซอร์เพื่อที่จะแอบขุดเงิน Cryptocurrency Mining รวมไปถึงองค์กรชั้นนำในยุโรปยังต้องคำนึงในส่วนของการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่บังคับใช้กันในวงกว้างเช่น General Data Protection Regulation (GDPR) จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่อาจละเลยเรื่องของการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้”
โดยคุณปิยธิดายังระบุด้วยว่า ตัวเลขของภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2018 ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากกว่าเดิม อย่างเช่น กรณีของภัยคุกคามด้วยวิธีการโจมตีแบบ Business Email Compromise (BEC) เพิ่มขึ้นเป็น 12,472 ครั้ง (ปี 2017 จำนวน 9,708 ครั้ง) เป็นเมล์ลวงที่ผู้ไม่ประสงค์ดีปลอมอีเมล์ของผู้บริหารเพื่อลวงพนักงาน เป็นต้น ถัดมาเป็นภัยที่ยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแรนซั่มแวร์สายพันธุ์ใหม่จะพบน้อยลง แต่สายพันธุ์เก่าอย่างเช่นการกลับมาของแรนซั่มแวร์ WannaCry และตระกูลอื่นๆ สำหรับ WannaCry นั้นเป็นภัยคุกคามที่โด่งดังในช่วงปี 2017 แต่จวบจนในปี 2018 ภัยนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ก็ยังเติบโตเช่นกันและพบว่ามีภัยในตระกูลเดียวกับ WannaCry ถึง 616,399 สายพันธุ์ (ปี 2017 อยู่ที่ 321,814 สายพันธุ์) ส่วนตระกูลอื่นๆ อีก 126,518 สายพันธุ์ (ปี 2017 อยู่ที่ 244,716 สายพันธุ์) สำหรับในประเทศไทยเราตรวจพบว่ามีการโจมตีถึง 15,733 ครั้ง ในปี 2018 ที่ผ่านมา
ภัยคุกคามอีกประเภทหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่ากลัวไม่แพ้กันก็คือ การโจมตีโดยอาศัยการฝังมัลแวร์เพื่อทำการขุดเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency Mining ซึ่งวันนี้มีการโจมตีเลยระดับ 1 ล้านครั้งไปแล้ว โดยทางเทรนด์ไมโครตรวจพบถึง 1,350,951 ล้านครั้งในปี 2018 (ปี 2017 เพียงแค่ 400,873 ครั้งเท่านั้น) โดยกระบวนการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีกระทำนั้น ใช้วิธีการต่างๆ เช่น มีการฝั่งมัลแวร์ลงบนตัวส่วนขยายของเว็บบราวเซอร์ ใช้ป๊อป-อัพ ของโฆษณา ปลั๊กอินแปลกๆ บ็อตเน็ต หรือการใส่โค้ดร้ายลงไปยังซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายต่างๆ เป็นต้น