ปกติ โอเอสเป็นแค่หน้าอินเทอร์เฟซดีฟอลต์สำหรับผู้ใช้งานในการควบคุมกระบวนการ หรือทำงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัวที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะเป็น Windows , macOS, หรือ Linux (ลีนุกซ์)
ซึ่งลีนุกซ์เองก็มีทั้งอินเทอร์เฟซแบบกราฟิกสวยงามหรือ GUI กับอินเทอร์เฟซแบบใช้พิมพ์คำสั่งเป็นบรรทัดๆ หรือ CLI ซึ่งประการหลังนี้เองที่ทำให้ลีนุกซ์เป็นสวรรค์ของนักพัฒนาทั้งหลาย
เหตุผลหลักที่ลีนุกซ์ตอบโจทย์สายอาชีพคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะสายเทคนิค เพราะทั้งฟรีและเป็นโอเพ่นซอร์ส รวมทั้งความคุ้นเคยกับการป้อนพิมพ์คำสั่งแบบเทอมินัลของโอเอสตัวอื่นๆ โดยเฉพาะบรรพบุรุษอย่าง DoS อีกอย่างโอเอสตระกูลลีนุกซ์มีหลากหลายยี่ห้อหรือดิสโทรมาก แต่ทั้งหมดก็ใช้คำสั่งแบบเดียวกันหรือคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่
ด้วยความนิยมในวงการอย่างมาก ทำให้หลายบริษัทเลือกพัฒนาโซลูชั่นบนเซิร์ฟเวอร์ลีนุกซ์เพื่อให้มีคนจำนวนมากคอยซัพพอร์ททางเทคนิค โดยเฉพาะบริษัทใหญ่อย่าง Canonical, SUSE, และ Red Hat และแน่นอนว่าด้วยความยืดหยุ่นที่เอาชนะโอเอสมีแบรนด์อย่างวินโดวส์และแมคจึงทำให้พัฒนาโปรแกรมได้ง่ายและเร็วกว่ามาก หรือแม้แต่เอาเคอร์เนลมาปรับแก้เป็นโอเอสลีนุกซ์แบบฉบับของตัวเองก็ย่อมได้
และสำหรับนักเขียนโปรแกรมแล้ว ลีนุกซ์ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นหัวใจของสายอาชีพตนเองเลยทีเดียว ดังนั้นโปรแกรมเมอร์มือใหม่จึงควรทำความคุ้นเคยกับคำสั่งพื้นฐานบนลีนุกซ์ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้บนอินเทอร์เฟซแบบคอมมานด์ไลน์ของระบบปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า Shell เพื่อทำงานทั่วไปอย่างการสร้างหรือลบไฟล์และโฟลเดอร์ ทาง TechNotification.com จึงได้รวบรวมรายการคอมมานด์พื้นฐานของลีนุกซ์ที่ต้องรู้เพื่อใช้ทำมาหากินดังต่อไปนี้
1. ls (ตัวอักษรแอลเอสติดกัน)
ย่อจากคำว่า list จึงเป็นคำสั่งที่ใช้แสดงรายการไฟล์และโฟลเดอร์ทั้งหมดที่อยู่บนไดเรกทอรีปัจจุบัน ซึ่งถ้าใช้คำสั่ง ls โดยไม่ได้ตามด้วยพารามิเตอร์ใดๆ ก็จะแสดงรายการเนื้อหาของไดเรกทอรีในรูปแบบย่อมาให้ แต่ถ้าต้องการให้แสดงข้อมูลเต็มๆ หรือไฟล์ใดเป็นพิเศษ ก็จะพิมพ์พารามิเตอร์ต่อท้ายในรูป ls (ออพชั่นที่ต้องการ) (ชื่อไฟล์)
2. cd
ย่อมาจาก change directory (คำสั่งถอดมาจาก DoSที่คุ้นเคยกันเลย) จึงใช้ในการเปลี่ยนไปทำงานบนไดเรกทอรีอื่น แค่พิมพ์ cd ตามด้วยชื่อไดเรกทอรีที่ต้องการ หรือแม้แต่การออกมาอยู่ในไดเรกทอรีแม่ก่อนหน้า ด้วยการพิมพ์ว่า cd .. (เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ แทนจุดสองจุดนี้เป็นชื่อไดเรกทอรีแม่ของไดเรกทอรีปัจจุบัน)
3. pwd
ย่อจาก Print Working Directory จึงเป็นคำสั่งไว้แสดงชื่อไดเรกทอรีปัจจุบัน
4. mkdir
ย่อจาก Make Directory จึงเป็นคำสั่งใช้สร้างไดเรกทอรีใหม่ เพียงพิมพ์mkdirตามด้วยชื่อไดเรกทอรีที่ต้องการสร้าง
5. rmdir
ย่อจาก Remove Directory จึงเป็นคำสั่งใช้ลบไดเรกทอรี เพียงพิมพ์ rmdirตามด้วยชื่อไดเรกทอรีที่ต้องการลบ
6. cp
ย่อจาก Copy เป็นคำสั่งคัดลอกไฟล์ไปไว้ในโฟลเดอร์เป้าหมายที่ต้องการ เพียงพิมพ์ cpตามด้วยชื่อไฟล์ (กี่ไฟล์ก็ได้ ให้เว้นวรรคคั่น) แล้วตามด้วยชื่อโฟลเดอร์ แต่ถ้าต้องการคัดลอกทุกอย่างในไดเรกทอรี ทั้งไฟล์และไดเรกทอรีย่อย ให้ใช้ออพชั่น –r (ย่อจาก Recursive) ก่อนชื่อโฟลเดอร์ที่จะก๊อป และชื่อโฟลเดอร์ปลายทาง
7. rm
ย่อจาก Remove ใช้ลบไฟล์ ซึ่งปกติลีนุกซ์จะมีการถามซ้ำให้แน่ใจ แต่ถ้ารำคาญก็ให้ใส่ออพชั่น –f (ย่อจาก force) ส่วนการใช้ออพชั่น –r จะเป็นการลบไดเรกทอรีและทุกอย่างที่อยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นถ้าใช้ออพชั่นทั้งสองตัวพร้อมกัน เช่น rm –rfก็อาจลบทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยที่ไม่ทันตั้งตัวเลยก็ได้ จึงต้องระวังและตั้งสติก่อนใช้ออพชั่นเหล่านี้
8. mv
ย่อจาก Move เป็นคำสั่งไว้ใช้ย้ายไฟล์ไปโฟลเดอร์ที่ต้องการ มีโครงสร้างพารามิเตอร์คล้ายคำสั่ง cp
9. find
ใช้ค้นหาไฟล์ในไดเรกทอรีเป้าหมาย โดยพารามิเตอร์แรกถัดจากคำสั่งคือชื่อไดเรกทอรีเป้าหมายที่จะค้นหาข้างใน แล้วจึงต่อด้วยออพชั่นสำหรับพิมพ์พารามิเตอร์ที่ต้องการค้นหา เช่น –name ตามด้วยข้อความที่อยากเสิร์ช
10. kill
ใช้ปิดโปรเซสที่ต้องการ ซึ่งต้องตามด้วยพารามิเตอร์ที่เป็นไอดีของโปรเซสนั้นๆ (ดูรายการเลขโปรเซสที่รันอยู่ได้โดยใช้คำสั่ง top)
11. sudo
ย่อมาจาก Superuser do หรือ Switch User do ซึ่งการใช้คำสั่งนี้นำหน้าคำสั่งอื่นๆ ก็คือการให้รันคำสั่งนั้นในฐานะสิทธิ์ระดับ Superuser(ถ้าไม่พิมพ์ออพชั่นอื่น) หรือในฐานะผู้ใช้อื่น
12. passwd
เป็นคำสั่งที่ใช้เปลี่ยนรหัสผ่านของชื่อผู้ใช้ที่ต้องการ หรือผู้ใช้ปัจจุบัน ด้วยโครงสร้างคำสั่งดังนี้: passwd (ออพชั่น ถ้ามี) (ชื่อผู้ใช้อื่นถ้าต้องการ)
13. reboot
เป็นคำสั่งให้ระบบปิดการทำงานตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย เหมือนกดชัทดาวน์บนวินโดวส์แทนที่จะถอดปลั๊ก
14. clear
เป็นคำสั่งล้างการแสดงข้อมูลบนหน้าจอ ให้หน้าจอดูโล่งๆ พร้อมรับคำสั่งใหม่อย่างสะอาดตา
ที่มา : Technotification