ยุคนี้วงการเน็ตเวิร์กได้เปลี่ยนการให้ความสำคัญจากฮาร์ดแวร์ไปยังซอฟต์แวร์กันหมด ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างซิสโก้ นั่นหมายความว่า คนที่จะก้าวเข้ามาแย่งเค้กในตลาดเครือข่ายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพกเงินถุงเงินถังมาลงทุนกับฮาร์ดแวร์อีกต่อไป แค่สตาร์ทอัพรายเล็กๆ ที่มีไอเดียด้านซอฟต์แวร์เข้าตากรรมการก็สามารถออกมาเดินเฉิดฉายเรียกเสียงฮือฮาได้ง่ายๆ
โดยเฉพาะปัจจุบันมีสารพัดเทรนด์ใหม่ๆ ให้ไขว่คว้าโอกาสกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบ AI, Analytic, ออโตเมชั่น, การมองเห็นเครือข่ายบนแพลตฟอร์มแบบไฮบริดจ์หรือมัลติคลาวด์, เครือข่ายแบบ Intent-Based, หรือแม้แต่การเชื่อมต่อของผู้ใช้จากระยะไกล โดยเฉพาะเทรนด์ที่ฮ็อตที่สุดอย่างความสามารถในการจัดการเครือข่ายทุกประเภท จากทุกผู้จำหน่ายจากศูนย์กลางเดียวกัน เป็นต้น
นั่นคือ ตลาดเครือข่ายกำลังหนีห่างออกจากการผูกขาดของผู้จำหน่ายรายใดรายหนึ่ง มาใช้โอเพ่นซอร์สที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีและ API นอกจากนี้ สตาร์ทอัพหลายเจ้ายังมองเห็นช่องทางในการเอาเทคโนโลยีเก่าที่ยังมีใช้กันอยู่มาปัดฝุ่นเพิ่มนวัตกรรมใหม่ให้นำมาใช้งานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ทาง NetworkComputing.com จึงได้รวบรวม 8 สตาร์ทอัพด้านเน็ตเวิร์กที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในตอนนี้ พร้อมช่องทางที่พวกเขาฉวยโอกาสทำเงินเป็นกอบเป็นกำในตลาดที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ดังต่อไปนี้
Ennetix
ฉวยโอกาสจากกระแสการใช้ระบบตรวจสอบหลายเครือข่ายจากศูนย์กลางเดียวกันด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม Analytticที่นำ AI มาระบุปัญหาด้านการให้บริการและหาจุดคอขวดของการเราท์ทราฟิกได้แบบอัตโนมัติ ด้วยผลิตภัณฑ์ในชื่อ xNETที่เปิดตัวไปเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ตอบโจทย์ด้านความสามารถในการมองเห็นเครือข่าย และการค้นหาพร้อมแก้ไขปัญหประสิทธิภาพเครือข่ายแบบเรียลไทม์สำหรับไฮบริดจ์และมัลติคลาวด์โดยเฉพาะ
Meta Networks
เจาะกระแสเทรนด์ด้านบริการเครือข่ายที่เข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลาอย่าง Network as a Service (NaaS)ที่เปิดให้พนักงานบริษัทเข้าถึงเครือข่ายภายในขององค์กรได้จากระยะไกลอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง ตอบโจทย์การสิ้นสุดยุคของการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ภายในสำนักงาน
Lumina Networks
หนึ่งในสตาร์ทอัพด้าน SDN ที่ Brocade กว้านซื้อ หลังจากที่ Lumina สามารถระดมทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฯ ในโครงการระดมทุน Series A ที่นำโดย Verizon และ AT&T ซึ่งผลิตภัณฑ์ด้าน SDN ของ Lumina นี้นำมายกระดับประสิทธิภาพการให้บริการด้านเครือข่ายไร้สายโดยเฉพาะ 5G ได้เป็นอย่างดี
Barefoot Networks
เรียกความฮือฮาในงาน Cisco Live 2018 ได้พอสมควรด้วยการประกาศความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่อย่างซิสโก้สำหรับสวิตช์ดาต้าเซ็นเตอร์ซีรี่ย์ใหม่อย่าง Nexus 3400 ซึ่งทาง Barefoot ได้ใช้เทคโนโลยี Smart Programmable Real-Time In-band Network Telemetry (SPRINT)ในการควบคุมและให้การมองเห็นทุกแพ็กเก็ตที่วิ่งผ่าน รวมทั้งวิเคราะห์ด้วยแพลตฟอร์มตรวจสอบเครือข่ายเชิงลึกแบบ Analytic
NS1
ด้วยผลิตภัณฑ์อย่าง Pulsar RUM Steeringที่ยกระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง DNS ด้วยการเพิ่มระบบอัจฉริยะในการทำ Steering แอพแบบอัตโนมัติ ด้วยการระบุหา CDN ที่ผู้ใช้แต่ละรายจะได้ประสิทธิภาพการใช้งานเครือข่ายที่ดีที่สุด ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาทั้งทรูพุต, ความเร็ว, และ Latency ของแอพบคลาวด์ได้เป็นอย่างดี
Arrcus
เป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวมาเดือนเดียว ด้วยระบบปฏิบัติการด้านเราท์ติ้งสวิตชิ่งอย่าง ArcOSที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับผู้จำหน่ายรายใด สำหรับนำมาสร้างเครือข่ายแบบประหยัดที่ครอบคลุมทั้งคลาวด์แบบพับลิกและไพรเวท ซึ่งมาพร้อมกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยระดับมาตรฐาน ถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแก้ปัญหาการผนวกรวมระบบที่ประกอบด้วยไฮบริดจ์และคลาวด์หลายคลาวด์รวมกัน
Apstra
สานต่อแนวคิดด้านเครือข่ายแบบ Intent-Based ของซิสโก้ด้วยระบบปฏิบัติการพิเศษในชื่อ Apstra Operating System (AOS)ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับผู้จำหน่ายทุกเจ้า สำหรับให้ลูกค้าเลือกฮาร์ดแวร์ที่ต้องการติดตั้งได้ตามต้องการ โดย AOS จะอำนวยความสะดวกทั้งด้านการติดตั้ง, จัดการ, และแก้ปัญหาผ่านระบบ Analytic และ Telemetry พร้อมทั้งลดความซับซ้อนด้วยระบบควบคุมการตั้งค่าและระบบออโตเมชั่น
128 Technology
สร้างสีสันแก่เทคโนโลยีที่มีมาสักพักหนึ่งอย่าง SD-WAN ด้วยเราท์เตอร์ที่เรียกว่า Session Smart ซึ่งเป็นเวอร์ช่วลแมชชีนที่นำมาใช้ได้ทั้งในองค์กรและบนคลาวด์ เพื่อสร้างเครือข่าย WAN ที่ตอบสนองความต้องการของทั้งแอพพลิเคชั่นและบริการรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยความสามารถในการปรับแต่งได้ละเอียดที่มาพร้อมกับความเรียบง่ายในการใช้งานที่สร้างความแตกต่างที่เด่นชัดจากคู่แข่ง
ที่มา : Networkcomputing