เรากำลังอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ที่มีข้อมูลถูกป้อนเข้าระบบจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน อันนำไปสู่เทคโนโลยีประมวลผลเพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ อย่างเช่นบิ๊กดาต้า และวิทยาศาสตร์การจัดการข้อมูล ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากให้อยู่ในรูปที่นำมาใช้งานได้
นักวิทยาศาสตร์หรือผู้วิเคราะห์ข้อมูลนั้นจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับอัลกอริทึมทางสถิติ ซึ่งอัลกอริทึมต่างๆ นั้นมักเขียนผ่านภาษาโปรแกรมมิ่งที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลในระดับมากกว่ากิกะไบต์ได้
ทาง TechNotification.com จึงได้รวบรวมภาษาโปรแกรมมิ่ง 6 ภาษาที่ดีที่สุดสำหรับงานสาขาดาต้าไซน์นี้ ซึ่งสามารถพาคุณไปสู่ตำแหน่งงานที่ได้เงินเดือนสูงสุดในตลาดได้ โดยเฉพาะเมื่อทาง Harvard Business Review กล่าวว่า งานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะกลายเป็นตำแหน่งงานที่น่าหลงใหลมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้
1. Python
เป็นผู้นำทั้งด้านภาษาโปรแกรมมิ่งทั่วไป และภาษาสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลด้วย โดยมีจุดเด่นทั้งด้านความง่ายในการอ่านโค้ด และประสิทธิภาพในการรันงาน มีไลบรารีด้านวิเคราะห์ข้อมูลที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น NumPy และ SciPy
2. R Programming
เป็นภาษาที่ออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ ที่ดูเป็นมิตรกับผู้ใช้ เหมาะกับผู้เริ่มต้นเนื่องจากมีชุมชนออนไลน์และหนังสือคู่มือบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากคอยให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งฟังก์ชั่นของ R ก็ช่วยทำให้งานวิเคราะห์ข้อมูลซับซ้อนทั่วไปง่ายกว่าปกติด้วย
3. MATLAB
เป็นมากกว่าภาษาโปรแกรมมิ่ง โดยรวมเอาระบบประมวลผลและการสร้างกราฟเข้าไประบบเดียวกัน จึงถือเป็นทูลสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลที่ครบวงจรโดยไม่ต้องพึ่งไลบรารีหรือโมดูลภายนอกอื่นๆ
4. Java
มีจุดเด่นตรงที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบอื่นๆ ได้ เช่น กรณีที่องค์กรมีการใช้ข้อมูลบนโครงสร้างพื้นฐานแบบอื่นอยู่แล้วก่อนที่จะให้คุณริเริ่มโปรเจ็กต์ด้านดาต้าไซน์ นอกจากนี้ยังมีเฟรมเวิร์กที่ออกแบบมาสำหรับงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ เช่น Apache Spark, Hadoop, และ Hive เป็นต้น
5. Julia
ถูกพัฒนาเพื่องานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการประมวลผลเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้าน Data Mining, Machine Learning, และ Parallel Computing จึงทำให้ภาษา Julia เป็นหนึ่งในภาษาที่ใช้รันงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้เร็วที่สุด และอุดช่องโหว่ที่มักพบบนภาษาอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับงานด้านดาต้าไซน์
6. Scala
มีชื่อเสียงขึ้นหลังจากการเปิดตัวเอนจิ้นประมวลผลข้อมูลชื่อ Spark ที่เขียนด้วย Scala ทั้งหมด ดังนั้น การเขียนโค้ดด้วยภาษา Scala ย่อมรันบน Spark ได้เร็วกว่าภาษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการรวบรวมข้อมูล, เรียบเรียง, ประมวลผล, หรือตีความเป็นภาพ เป็นต้น
ที่มา : Technotification