ผ่านมาเกินครึ่งปีแล้วสำหรับปี 2018 นี้ ซึ่งเราได้เห็นนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมายจากหลายวงการ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและการเอาชีวิตรอดจากโรคร้ายที่ตนเองเป็นอยู่ หรืออาจต้องเผชิญในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์กับความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหลายที่มีความทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้น จนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดการรักษาในอดีตไปได้หลายต่อหลายประการ ซึ่งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งประจำปีนี้ได้แก่
1. กระจกตาแบบพิมพ์สามมิติที่ใช้ได้เหมือนจริงอันแรกของโลก
ถือเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจจากหลายสำนักข่าวทั่วโลก แม้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการพิมพ์ขึ้นรูปพลาสติก จนสามารถพิมพ์โลหะ และในที่สุดสามารถพิมพ์วัสดุชีวภาพได้โดยใช้เทคนิคละลายเซลล์แก้วตาที่มีสุขภาพดีผสมกับคอลลาเจนและวุ้นจนได้เป็นหมึกพิมพ์ชีวภาพ และสามารถปริ๊นท์ออกมาเป็นกระจกตาของมนุษย์ได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการรับรองให้ใช้ทางการแพทย์ได้ในไม่ช้า
2. ภาพเอ็กซ์เรย์สีสามมิติของร่างกายมนุษย์
จากการใช้ชิปของ CERNด้วยชิปเซ็นเซอร์ที่ CERN วิจัยขึ้นมา ถูกบริษัทด้านฉายภาพอย่าง Large Haldron Colliderนำมาพัฒนาต่อจนได้อุปกรณ์ฉายภาพสีสามมิติของร่างกายมนุษย์อย่างกระดูก, ไขมัน, และเนื้อเยื่อตำแหน่งต่างๆ ได้
3. การใช้ AI ทำนายผลข้างเคียงของการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน
เมื่อการทานหรือได้รับตัวยาหลายชนิดอาจส่งผลต่อต้านระหว่างกัน จนอาจเกิดผลเสียที่ไม่พึงประสงค์ได้หลากหลาย ทางนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงคิดค้นระบบ Deep Learning ที่ชื่อ Decagon ที่ผ่านการเรียนรู้โปรตีนกว่า19,000 ชนิด จนรู้ถึงปฏิกิริยาของตัวยาแต่ละชนิดต่อโปรตีนแบบต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ผลกระทบต่อร่างกายของการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกันได้อย่างแม่นยำ
4. หุ่นยนต์เจาะกะโหลกอัตโนมัติ
แน่นอนว่างานผ่าตัดกะโหลกนั้นต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างสูง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเว่นจึงคิดค้นหุ่นยนต์เจาะกะโหลกที่ช่วยเร่งความเร็วและให้ความแม่นยำในการผ่าตัดในชื่อ RoBoSculpt
5. หมวกตรวจภาวะหลอดเลือดในสมองแตก
การพบอาการของเส้นเลือดในสมองแตกอย่างรวดเร็วนั้นเพิ่มอัตราการรอดชีวิตเป็นอย่างมาก ทางบริษัท Cerebrotech Medical Systems ของสหรัฐฯ จึงคิดค้นหมวกที่ชื่อ Cerebrotech Visor ที่คอยส่งคลื่นวิทยุผ่านสมอง เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างสมองสองซีก จนทำให้ตรวจจับและวัดระดับความร้ายแรงของอาการได้แม่นยำถึง 92% เมื่อเทียบกับวิธีปกติที่ให้ความแม่นยำเพียง 40 – 89%
ที่มา : Technotification