เวลาพูดถึงการอัพเกรดเครือข่ายไร้สาย หลายคนจะนึกง่ายๆ แค่การซื้ออุปกรณ์รุ่นใหม่แทนฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าการยกระดับประสิทธิภาพอย่างคุ้มค่าและเห็นผลชัดเจนนั้นมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะ โดยเฉพาะถ้าผู้ใช้ต้องการความเร็วและความเสถียรระดับที่องค์กรใช้กัน
จริงอยู่ถ้าผ่านมาหลายปีแล้ว โครงสร้างพื้นฐาน Wi-Fi เดิมน่าจะเก่าเกินเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ออกมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน Wi-Fi กลายมาเป็นการเชื่อมต่อหลักที่ผู้ใช้ต้องการพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณและทรูพุตมากกว่าเดิม และจากจำนวนอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มขึ้น ทำให้การสื่อสารไร้สายกำลังเข้ามาแทนที่การเชื่อมต่อแบบเดิมๆ อย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แต่การปรับปรุงเครือข่ายไร้สายยุคนี้มีอะไรที่ต้องทำเยอะกว่าแค่ทิ้งของเก่าซื้อของใหม่ เราจำเป็นต้องระบุหาจุดอ่อนบนแลนไร้สายปัจจุบัน แล้วจึงออกแบบวิธีแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตำแหน่งอุปกรณ์อย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้ได้การเชื่อมต่อที่ดีที่สุด โดยที่มีการรบกวนหรือความแออัดสัญญาณน้อยที่สุด รวมไปถึงการพิจารณาประเภทของอุปกรณ์ Wi-Fi ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเพื่อให้ความสำคัญกับความพร้อมการให้บริการและความปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ NetworkComputing.com ได้แนะ 8 เคล็ดลับที่ช่วยให้การปรับปรุงเครือข่ายไร้สายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้
1. ทำไซต์เซอร์เวย์
ไม่ว่าจะซื้อซอฟต์แวร์ระดับองค์กรมาทำเซอร์เวย์กันเอง หรือจ้างเอาต์ซอร์สมาทำให้ก็ตาม ควรให้ความสำคัญกับผลสำรวจสัญญาณที่ได้เนื่องจากเป็นตัวระบุปัญหาการครอบคลุมสัญญาณที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลสำคัญในการอัพเกรดครั้งต่อๆ ไปในพื้นที่เดิมอีกด้วย
2. หาตำแหน่งพื้นที่ที่คาดจะใช้งานมาก
อย่าลืมว่าจำนวนอุปกรณ์พกพาที่ถูกนำมาใช้บนเครือข่ายขององค์กรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเทรนด์ทั้ง BYOD และ IoT ดังนั้น ไม่เพียงแค่ต้องออกแบบให้สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ทุกซอกทุกมุมเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบให้สามารถบริการผู้ใช้ที่มีจำนวนแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีเพิ่มจำนวนแอคเซสพอยต์ตาจุดที่อาจมีการเชื่อมต่อจำนวนมาก หรือเลือกใช้ AP ที่รองรับการใช้งานหนาแน่น (High-Density) ได้ เป็นต้น
3. พิจารณาการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรม
ตอนนี้องค์กรส่วนใหญ่มักเลือกใช้ไวร์เลสคอนโทรลเลอร์ร่วมกับแอคเซสพอยต์แบบไลต์เวตที่คอยสื่อสารกับคอนโทรลเลอร์ตลอดเวลาเพื่ออัพเดทการตั้งค่าสำหรับปรับเปลี่ยนความเข้มสัญญาณและช่องสัญญาณเพื่อหลบการรบกวนอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมมากมาย โดยเฉพาะการย้ายการตั้งค่าและการจัดการอุปกรณ์ไปยังคลาวด์เพื่อตัดความจำเป็นในการติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เองในองค์กร
4. ทำความเข้าใจรูปแบบเสาอากาศที่หลากหลาย
เช่น การติดตั้งในสำนักงานทั่วไปที่มีเพดานสูงประมาณ 9 – 15 ฟุต มักใช้เสาอากาศแบบฝังใน AP ปกติ ขณะที่การใช้งานในพื้นที่ต่างออกไปอย่างในโกดังสินค้า, โรงงาน, หรือพื้นที่ที่เพดานสูงมาก รวมทั้งมีอุปสรรคการส่งสัญญาณอย่างเช่นโลหะหรือก้อนหิน ก็จำเป็นต้องเลือกใช้เสาอากาศแบบที่ต่างออกไปให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นแบบ Omni, Patch, หรือ Yagi เป็นต้น
5. วางแผนการให้บริการบุคคลภายนอก
หาวิธีจัดการอย่างง่ายใน การแยกกลุ่มผู้ใช้ภายในกับภายนอกองค์กรออกจากกันจะช่วยป้องกันการเข้าถึงข้อมูลภายในที่อ่อนไหวโดยไม่ได้รับอนุญาต และช่วยแยกระบบการยืนยันตนออกจากกันได้ เช่น พนักงานบริษัทมักใช้การยืนยันตนผ่านระบบ RADIUS บนเซิร์ฟเวอร์ไดเรกทอรี ขณะที่การยืนยันตนสำหรับเกสแบบเก่ามักใช้เป็นรหัสตายตัวเดียวกันสำหรับทุกคนหรือ Pre-Shared Key (PSK) ที่มักมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยปัจจุบันจึงหันมาใช้การล็อกอินแยกพร้อมตั้งเวลาหมดอายุการใช้งาน โดยยืนยันตนผ่านข้อความสั้นหรือบัญชีโซเชียลมีเดียแทน
6. กำจัดปัญหาด้านสัญญาณรบกวนที่เป็นไปได้
โดยเฉพาะการติดตั้งในเขตที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นจนต้องคอยแก่งแย่งสัญญาณทั้งย่าน 2.4 และ 5GHz ซึ่งจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์สเปกตรัม, ไซต์เซอร์เวย์, รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรบกวนสัญญาณ WiFiเพื่อตัดต้นตอการรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด
7. ยกเลิกการรองรับมาตรฐาน 802.11 ที่เก่ามาก
เนื่องจากไปแย่งทรูพุตจากการเชื่อมต่อมาตรฐานอื่นบนย่าน 2.4GHz เดียวกัน อุปกรณ์ที่มีการใช้งานปัจจุบันส่วนใหญ่รองรับ 802.11n และ 802.11ac กันหมดแล้ว อาจต้องยกเลิกการรองรับ 802.11b และ 802.11g หรือแยก SSID ออกไปต่างหากแทน
8. ทำไซต์เซอร์เวย์อีกครั้งหลังติดตั้งเสร็จ
และวางแผนสำหรับการปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ภาพการครอบคลุมสัญญาณที่อัพเดท พร้อมจุดอับที่อาจยังมีอยู่เพื่อนำไปใช้วางแผนการปรับปรุงเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : Networkcomputing