ในฐานะโปรแกรมเมอร์นั้น Bug (บั๊ก) เปรียบดั่งเจ้ากรรมนายเวรที่ตามติดทุกหนทุกแห่ง บั๊กในที่นี้คือข้อผิดพลาดต่างๆ ในโปรแกรมที่กำลังพัฒนา แน่นอนว่าการทำงานทุกอย่างย่อมเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งถือว่าขั้นตอนการดีบั๊ก หรือการค้นหาจุดผิดพลาดในโปรแกรมนั้นยากกว่าการเขียนโค้ดหลายล้านเท่า
และสิ่งที่ซ้ำเติมคนเขียนโค้ดให้จมลึกไปกว่าอเวจีอีกก็คือ การเผลอไปสร้างบั๊กซ้ำซ้อนหนักกว่าเดิมแทนที่จะแก้บั๊กก่อนหน้าได้ ดังนั้น ทาง Technotification.com จึงได้รวบรวมบั๊ก 5 แบบที่เจอบ่อย เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
1. บั๊กตัวเล็กๆ
หรือความผิดพลาดเล็กน้อยก็สะเทือนถึงดวงดาวแอนโดรเมด้าอันไกลโพ้นมาก เช่น แค่ลืมใส่สัญลักษณ์บอกการจบบรรทัดหรือพารามิเตอร์อย่างเซมิโคลอนหรือวงเล็บปิดที่ไหนสักแห่งจนทำให้รันโปรแกรมไม่ได้ คุณก็ต้องนั่งไล่เช็คทีละตัวอักษรจนตาแทบบอด แม้แต่ช่องว่างหรือย่อหน้าในภาษายอดนิยมอย่าง Python แต่ปัจจุบันมีโปรแกรมแก้ไขโค้ดหรือ IDE มากมายที่มีฟีเจอร์ค้นหาบั๊กตัวกะจิดริดพวกนี้ได้บ้าง จนสามารถช่วยคุณประหยัดเวลาได้หลายชั่วโมง
2. บั๊กมโน
คิดเอาเองว่ามี แล้วก็เสียเวลาค้นหาสิ่งที่ไม่มีจริงในจักรวาลนี้ ทั้งที่สาเหตุจริงๆ ไม่ได้มาจากโค้ดเลย เช่น คอมไพเลอร์มีปัญหาหรือล้าสมัยไม่ได้อัพเดทรองรับฟังก์ชั่นใหม่ๆ หรือปัญหามาจากเพิ่งอัพเดทคอมไพเลอร์ใหม่แล้วโค้ดเดิมกลับมีปัญหา เช่น อัพเดทเวอร์ชั่นPHP ปุ๊บ รันโค้ดแล้วเออเร่อปั๊บจนดาวน์เกรดแทบไม่ทัน
3. บั๊กจริงๆ บั๊กตัวเป้งๆ
เพราะคุณพลาดแบบจริงจังอันเกิดความไม่รู้ เช่น การใส่คำสั่งผิดหรือไม่เข้ากัน หรือเลือกใช้ กำหนดค่า ประเภทอากิวเมนต์ต่างๆ จนทำงานเข้ากันไม่ได้ อาจเป็นความผิดพลาดเชิงฟังก์ชั่นคณิต, ตรรกะหรือโฟลว์การทำงาน, ไปจนถึงการลิงค์ทรัพยากรต่างๆ ผิด การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงไม่ถูกต้อง เป็นต้น ปัจจุบันคอมไพเลอร์ดีๆ ก็มักชี้แจงเหตุผลที่รันโค้ดมีปัญหาให้คุณรู้และแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น
4. บั๊กซ่อนเร้น
บั๊กที่ไม่เห็นระหว่างการคอมไพล์ แต่พอใช้งานจริงแล้วกลับเจอสิ่งที่ใม่พึงประสงค์ต่างๆ พฤติกรรมแปลกๆ หรือโปรแกรมค้าง ทั้งๆ ที่คอมไพเลอร์ไม่เห็นฟ้องอะไรขึ้นมา นอกจากนี้บั๊กซ่อนแอบนี้อาจจะอยู่ในรูปช่องโหว่ที่ทำให้ซอฟต์แวร์มีช่องโหว่จนโดนแฮ็คจากภายนอกให้เกิดปัญหาได้ด้วย
5. บั๊กเซอร์ไพรส์!
ก่อนหน้านี้เคยรันดีๆ วันนี้เกิดรั่วขึ้นมาทั้งที่ไม่มีใครไปยุ่งอะไรกับมัน ทั้งนี้ ยิ่งคุณเลอะกับการดีบั๊ก ก็ยิ่งเยอะประสบการณ์และใช้เวลาแก้ไขบั๊กได้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อสรุปของโปรแกรมเมอร์ทั่วโลกที่เคยโดนบั๊กเพิ่มจำนวนตัวเองหลายเท่าระหว่างการแก้ไขบั๊กเล็กบั๊กน้อยนั้นคือ ถ้าโค้ดมันเสถียรอยู่แล้ว อย่าได้ไปแตะต้องอะไรมันเชียว
ที่มา : technotification