โลกของสตอเรจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จาก RAID มาเป็น Solid-State, Software-defined, โอเพ่นซอร์ส, จนมาเป็นแอพพลายแอนซ์บนคลาวด์ตามลำดับภายในเวลาไม่กี่ปี นั่นคือแอดมินด้านสตอเรจจำเป็นต้องปรับตัวพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อก้าวทันโลกของตัวเองด้วย มาดูทักษะที่ควรศึกษาเพื่อรับมือกับอนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้กันครับ:
1. สตอเรจแบบ Solid-State
แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีการนำ SSD มาใช้ในงานสตอเรจทั่วโลกไม่ถึงครึ่ง แต่ถ้าคุณเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานจากไดรฟ์แบบ Dual-Port และ RAID แล้ว ความหวาดกลัวทั้งหมดเกี่ยวกับ SSD จะหายเป็นปลิดทิ้ง นั่นคือ ทักษะเกี่ยวกับเสาะหา, นำมาผสานกับระบบปัจจุบัน, และการใช้ SSD จะมาแทนที่ทักษะเกี่ยวกับ RAID ของทีมสตอเรจในอนาคตอันใกล้ ซึ่งในปีนี้ SSD ลูกนึงจะทำความจุได้สูงสุดถึง 100TB ขณะที่ฮาร์ดดิสก์ปกติยังดิ้นผ่านด่าน 15TB ไม่ได้สักที อีกทั้งด้วยประสิทธิภาพที่สามารถทำได้มากสุดถึง 1000 เท่า รวมทั้งความเร็วในการสตรีมข้อมูลมากกว่าถึง 100 เท่า หรือเท่ากับ 10GB ต่อวินาทีแล้ว กลัวแพงเหรอ ถ้าลูกนึงจุได้ขนาดนี้ก็ประหยัดเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไปได้หลายเครื่องนะครับ
2. Object Storage
ตอนนี้ Ceph ได้พัฒนาโปรโตคอล IO แบบ Filer and Block นอกเหนือจากอินเทอร์เฟซ RESTful สำหรับระบบ Object Storage ซึ่งสตอเรจแบบ “ครอบจักรวาล” นี้กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งโซลูชั่นแบบอ๊อพเจ็กต์ส่วนใหญ่ในตลาดต่างคล้ายกับของ Ceph แต่มักขาดฟีเจอร์จำเพาะบางอย่างที่มีเฉพาะใน Ceph เช่น การบีบอัดข้อมูล ซึ่งการทำความรู้จักทางเลือกต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากสตอเรจแบบอ๊อพเจ็กต์นี้ทั้งกับข้อมูลแบบมีและไม่มีโครงสร้าง ถือเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการเล่นสตอเรจแบบอ๊อพเจ็กต์เจ้าดังๆ ในตลาด อันได้แก่ Ceph (ที่สนับสนุนโดย Red Hat), Scality, Caringo, และ OpenStack Swift รวมถึงโซลูชั่นจากยักษ์ใหญ่อย่าง IBM Cleversafe
3. การสำรองข้อมูล, บีบอัด, และกู้ระบบบนคลาวด์
บริษัทไอทีส่วนใหญ่ตอนนี้มีการสำรองข้อมูลอย่างน้อยบางส่วนขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับโลกของไฮบริดจ์คลาวด์และเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ ทำให้มีผู้จำหน่ายจำนวนมากต่างพัฒนาฟีเจอร์และโซลูชั่นใหม่ๆ ในการจัดเก็บและกู้ข้อมูล ซึ่งโมเดลคลาวด์แบบ DR ถือว่ามีความสำคัญมาก แต่ผู้คนยังให้ความสนใจไม่มากเท่าไร มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่เพียงจำนวนหนึ่งที่มองภาพการกู้ระบบได้อย่างครอบคลุม เช่น ตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์สำหรับกู้ข้อมูล (อย่างเช่น ตั้งอยู่ในคลาวด์) หรือการฟื้นฟูการเข้าถึงข้อมูลใหม่ในหลักเพตาไบต์ด้วยการแบ๊กอัพแบบโคลด์สตอเรจและการใช้สแนปช็อต ด้วยเทคโนโลยีของคลาวด์และการจำลองการทำงานของดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้ดาวน์ไทม์ในปัจจุบันสามารถลดลงจากหลักสิบชั่วโมงลงมาเหลือไม่กี่นาทีได้ ซึ่งถือเป็นทักษะที่จะปูทางอาชีพด้านสตอเรจของคุณได้เป็นอย่างดี
4. คอนเทนเนอร์ โดย Docker
ถือเป็นเรื่องที่ฮอตฮิตที่สุดในโลกไอทีปัจจุบัน ด้วยความคล่องตัวในการทำงานของคอนเทนเนอร์ที่มากกว่าระบบไฮเปอร์ไวเซอร์แบบเดิมหลายเท่าตัว รวมทั้งการใช้ทรัพยากรด้านการประมวลผลและหน่วยความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและพื้นที่ใช้สอยได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการด้านสตอเรจสำหรับ Docker และการรักษาความถูกต้องของข้อมูลบนเครือข่าย จึงเป็นทักษะที่การันตีรายได้อันมหาศาลได้ทีเดียว โดยเฉพาะ ทักษะเกี่ยวกับคอนเทนเนอร์ชั้นสูงยิ่งขึ้นอย่าง การจัดการทำงานร่วมกับไฮเปอร์ไวเซอร์ (โดยเฉพาะกับ VMware vSphere), การทำความเข้าใจถึงความต้องการประสิทธิภาพของทั้งประเภท Instance และประเภทข้อมูลต่างๆ, และการจัดการข้อมูลข้ามไฮบริดจ์คลาวด์ เป็นต้น
5. การจัดการข้อมูลบนไฮบริดจ์คลาวด์
การวางตำแหน่งของข้อมูลที่ผิดพลาดอาจเปลี่ยนคลาวด์จากระบบที่เข้าถึงได้แบบทันที กลายเป็นการย้ายตำแหน่งข้อมูลที่ดีเลย์เป็นหลายชั่วโมงได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารหัสข้อมูลถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จในการทำงานบนคลาวด์ โดยเฉพาะระบบกรทำงานแบบอัตโนมัติ
6. ระบบจัดการโดยใช้โพลิซี
คลาวด์ที่มีการออกแบบเป็นอย่างดี จะใช้การจัดการด้วยโพลิซีเป็นหลัก ที่เปิดให้ผู้ใช้สร้างพื้นที่เวอร์ช่วลของตัวเองได้ตามที่จำเป็น ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง SDN และ SDS จะกลายเป็นทักษะใหม่ที่เหล่าแอดมินด้านสตอเรจจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกปรือ
7. โครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวอจ์
ขณะที่แอพพลายแอนซ์ด้านสตอเรจกำลังลดขนาดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเหมือนเซิร์ฟเวอร์ในคลัสเตอร์ทั่วไปนั้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged ที่มองภาพของเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจเหมือนกันแล้ว ทำให้สามารถจัดการฮาร์ดแวร์ในแต่ละหน่วยเป็นพูลการเข้าถึงทรัพยากรของซอฟต์แวร์สตอเรจที่โฮสต์อยู่ในเวอร์ช่วลอินสแตนต์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี SDS จึงจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะสตอเรจชั้นสูงด้านนี้ โดยเฉพาะการทำคลัสเตอร์ด้วย RDMA
8. NVMe และ RDMA
โดย NVMe เป็นวิธีการจัดการ I/O ที่มาหลังเทคโนโลยี SCSI เดิม ซึ่งให้ทั้งความเร็วและความยืดหยุ่นมากกว่า โดยใช้โอเวอร์เฮดน้อยกว่าไฟเบอร์แชนแนลหรือ SAS โดยเรากำลังก้าวออกจากโซลูชั่นแบบ PCIe เดิมมาสู่การใช้การใช้การ์ดขนาดเล็ก และโซลูชั่นที่ใช้การเชื่อมต่อแบบแฟบริก เช่น อีเธอร์เน็ต, InfiniBand, หรือ FC แทน โซลูชั่นทั้งหมดนี้ต่างใช้เทคโนโลยี Remote Direct Memory Access หรือ RDMA ทั้งสิ้น ที่เปิดให้เข้าถึงหน่วยความจำตำแหน่งต่างๆ ได้โดยตรง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งทักษะเหล่านี้จำเป็นมากสำหรับทีมสตอเรจที่เกี่ยวข้องกับงานวิเคราะห์ข้อมูลระดับ Big-Data
9. สตอเรจแบบโอเพ่นซอร์ส
ปัจจุบันโลกของสตอเรจกำลังเป็นเหมือนระบบลีนุกซ์ โดยมีซอร์สโค้ดแบบโอเพ่นซอร์สที่เป็นซอฟต์แวร์แกนหลัก ที่สามารถเปลี่ยนแพลตฟอร์มทุนต่ำธรรมดาให้กลายเป็นแอพพลายแอนซ์สตอเรจอันทรงพลังได้ ตัวอย่างในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ Ceph ซึ่งการมีทักษะด้านนี้จะทำให้คุณมีค่าตัวอย่างมากจากการช่วยลดค่าใช้จ่ายปริมาณมหาศาลในองค์กร
ที่มา : http://www.networkcomputing.com/storage/hot-storage-skills-modern-data-center/1202517415