หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic 7 เหตุผลสำคัญ ที่คุณจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรฐานของสายสัญญาณด้านเน็ตเวิร์ก

7 เหตุผลสำคัญ ที่คุณจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรฐานของสายสัญญาณด้านเน็ตเวิร์ก

แบ่งปัน

เมื่อกล่าวถึงการทดสอบการติดตั้งระบบสายเคเบิลนั้น ก็จะมีทางเลือกอยู่สามทาง ได้แก่ การตรวจสอบความถูกต้อง (Verification), การตรวจสอบคุณภาพ (Qualification), และการตรวจรับรองมาตรฐาน (Certification) การทดสอบแบบตรวจความถูกต้องนั้นเหมาะอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา เนื่องจากสามารถบอกคุณได้ว่าสายเคเบิลนั้นเชื่อมต่ออย่างถูกต้องอยู่หรือไม่ รวมทั้งยังช่วยค้นหาตำแหน่งสายหัก, ตำแหน่งหัวต่อ, และ Splice ได้ด้วย

ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพนั้นจะบอกคุณได้ว่าสายเคเบิลที่นำมาทดสอบเหมาะกับการนำไปใช้งานที่จำเพาะนั้นๆ หรือไม่ หรือดูว่าระบบสายเคเบิลที่ใช้งานอยู่สามารถรองรับการประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ (อย่างเช่นการทดสอบสาย Cat 6 ที่ใช้อยู่ว่าสามารถทำงานรองรับความเร็วแบบ 2.5/5GBASE-T ได้หรือไม่ เป็นต้น)

แต่ทว่ามีเพียงการตรวจรับรองมาตรฐาน เท่านั้นที่จะบอกคุณได้ว่าระบบสายเคเบิลนั้นมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์หรือไม่ เป็นการทดสอบประเภทเดียวที่พิจารณาถึงค่าต่างๆ ครอบคลุมตามที่มาตรฐานกำหนด และนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับคุณสมบัติตามมาตรฐาน TIA, ISO, และ IEEE เพื่อหาว่าลิงค์นั้นสอดคล้องตามประเภทหรือมาตรฐานของสายเคเบิลแบบใด ที่จะชี้ว่ารองรับการประยุกต์ใช้แบบที่ต้องการได้หรือไม่อีกทีหนึ่ง นอกจากนี้การตรวจรับรองมาตรฐาน ยังเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสายเคเบิลส่วนใหญ่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรับประกันด้วย

นอกจากความอุ่นใจจากการรับประกันที่ผู้ผลิตให้มาแล้ว ยังมีอีก 7 เหตุผลที่ควรใช้การตรวจรับรองมาตรฐาน ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของเอง เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นผู้ติดตั้งก็ตาม

1. รีบขจัดวัสดุที่ไม่ดี หรืองานฝีมือที่แย่ออกจากโครงการของคุณ
การตั้งข้อกำหนดว่าต้องมีการตรวจรับรองมาตรฐาน นั้นเป็นการขู่ผู้วางระบบสายเคเบิลของคุณเป็นนัยๆ ว่าคุณจะไม่มีทางยอมรับชิ้นส่วนหรืองานใดๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน (จึงอย่าคิดมักง่ายกับเราแม้แต่นิดเดียว) ซึ่งซัพพลายเออร์ที่ทำงานไม่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว อาจจะหนีจากการเป็นตัวเลือกของเราตั้งแต่ตอนเสนอราคาแล้วก็ได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการคัดเลือกคนวางระบบที่มีฝีมือและเชื่อถือได้ อีกทั้ง การตรวจรับรองมาตรฐาน จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของลิงค์ที่รวมถึง Crosstalk และ Return Loss ที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงสาเหตุที่ลิงค์อาจจะล้มเหลวได้ เครื่องมือทดสอบอย่าง DSX CableAnalyzer Series สามารถจำกัดวงให้แคบ และหาที่มาของความล้มเหลวได้ว่า อาจจะมาจากหัวต่อ การติดตั้ง หรือจากตัวสายเคเบิลเอง ทำให้คนวางระบบแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โปรเจ็กต์ของคุณเสร็จทันตามกำหนด

2. ระบุข้อกำหนดที่ต้องการได้ละเอียดขึ้น
เทคโนโลยีใหม่นั้นมักต้องการประสิทธิภาพการทำงานของสื่อรับส่งข้อมูลมากกว่าเทคโนโลยีเดิมที่ถูกแทนที่ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1995 เรายังใช้สายไฟเบอร์ที่ความเร็ว 100 Mb/s โดยมีข้อกำหนดค่าความสูญเสียของสายไฟเบอร์อยู่ที่ 11dB ซึ่งตอนนั้นมองว่าคุณภาพของหัวต่อไม่มีผล การทำความสะอาดสายไฟเบอร์แทบไม่มีความจำเป็น แม้กระทั่งการทดสอบยังถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยด้วยซ้ำ แต่ด้วยการเข้ามาของ Gigabit Ethernet ในปี 1998 ทำให้ข้อกำหนดค่าความสูญเสียเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 2 dB ซึ่งค่ามาตรฐานที่เข้มงวดมากขนาดนี้ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจรับรองมาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าระบบสายเคเบิลของคุณสามารถรองรับรูปแบบการใช้งานที่ต้องการได้

3. คุณเชื่อสัญญาณไฟบนลิงค์ไม่ได้!
เพียงแค่ไฟสีเขียวดวงเล็กๆ บนพอร์ตนั้นเปิดอยู่ หรือกระพริบเพื่อแสดงว่ามีการรับส่งข้อมูลอยู่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเครือข่ายกำลังทำงานได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น โดยลิงค์ดังกล่าวอาจทำงานช้า มีความผิดพลาดของบิทข้อมูลสูง หรืออาจทำงานไม่ได้เลยก็ได้ ดังนั้นไฟที่แสดงบนลิงค์บอกอะไรคุณไม่ได้ มีแต่การตรวจรับรองมาตรฐาน เท่านั้นที่จะแจ้งให้คุณทราบ!

4. คุณไม่มีเวลาไปแก้ไขงานของคนอื่น
เวลาที่คุณได้ตรวจรับรองมาตรฐาน จนมองเห็นภาพรวมของประสิทธิภาพระบบสายเคเบิลที่เพิ่งติดตั้งได้อย่างชัดเจนแล้ว เท่ากับว่าคุณมีหลักฐานที่จะใช้เรียกผู้ติดตั้งมาแก้ปัญหาที่คุณไม่ได้เป็นคนก่อ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ เหล่าซัพพลายเออร์ก็มักปัดความรับผิดชอบให้คุณมานั่งแก้ไขทีหลังเอง ซึ่งเสียหายทั้งเวลาและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

5. การตรวจรับรองมาตรฐาน ไม่ได้แพงอย่างที่คิด
เราไม่ทราบแน่ชัดว่าข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าการตรวจรับรองมาตรฐาน มีราคาแพงนี้มาจากไหน แต่แล้วทำไมคุณยอมลงทุนติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากที่อยู่เบื้องหลังการสื่อสาร การรับส่งข้อมูล และธุรกรรมทุกอย่าง แต่ไม่ยอมลงทุนที่คิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อให้แน่ใจว่าระบบดังกล่าวใช้งานได้อย่างมีคุณภาพจริง? ผู้วางระบบส่วนใหญ่ที่เลือกใช้อุปกรณ์ทดสอบแบบตรวจเทียบมาตรฐานจาก Versiv® ของ Fluke Networks ต่างระบุว่าการตรวจรับรองมาตรฐาน นั้นคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 5% ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนี้อย่าลืมว่าถ้าคุณจำเป็นต้องกลับไปแก้งานแล้ว อาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลิงค์เลยทีเดียว

6. มีหลักฐานชัดเจนที่ไม่ต้องคอยโยนความผิดไปมา
เวลาที่มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้ง เจ้าของทีมงานเน็ตเวิร์ก หรือผู้ผลิตวัสดุปกรณ์ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นจะดีกว่าไหม? ถ้าเรามีรายงานผลการตรวจรับรองมาตรฐาน ที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของเครือข่ายในเวลาที่ติดตั้ง? รายงานนี้จะทำให้ใครก็ตามยากที่จะโยนความผิดที่ตัวเองรับผิดชอบให้คนอื่น ยิ่งถ้ารายงานฉบับนั้นมีคำว่า “Fluke Networks” กำกับด้วยแล้ว คุณก็จะยิ่งมั่นใจในความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก เนื่องจากมีผู้ผลิตกว่า 30 รายต่างยกย่องและเชื่อมั่นในอุปกรณ์อย่าง DSX CableAnalyzer (ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ต่างก็ใช้อุปกรณ์นี้ในการทดสอบหน้างานของตัวเองด้วย) ทำให้คนเหล่านี้ไม่ตั้งคำถามสงสัยกับผลทดสอบของคุณอีก ตราบเท่าที่คุณตรวจรับรองมาตรฐาน อุปกรณ์อยู่เสมอ

7. เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
ประการสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด การตรวจรับรองมาตรฐาน สำหรับระบบสายเคเบิลนั้นถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้แน่ใจว่าการติดตั้งของคุณพร้อมที่จะรองรับรูปแบบการใช้งานแบบใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาในอนาคต ด้วยการแสดงข้อมูลคุณสมบัติและประสิทธิภาพการทำงานอย่างละเอียด และการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบสายเคเบิลนั้น สอดคล้องกับประเภทหรือมาตรฐานของสายเคเบิลที่กำหนด จะทำให้คุณวางใจได้ว่าทุกรูปแบบการใช้งานที่ตั้งใจจะใช้บนสายเคเบิลดังกล่าวจะรองรับทั้งปัจจุบันและอนาคตได้

สามารติดตามข้อมูลต่างๆ ได้ที่เพจ Fluke Network
ที่มา: https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/7-reasons-certify