หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic 7 สาเหตุสำคัญที่อาจจะส่งผลให้ระบบเน็ตเวิร์กของคุณ “อืดอาด”

7 สาเหตุสำคัญที่อาจจะส่งผลให้ระบบเน็ตเวิร์กของคุณ “อืดอาด”

แบ่งปัน

เวลาหน่วงหรือ Latency นั้น เป็นส่วนต่างเวลาหรือดีเลย์ที่นับจากเมื่อมีการกระทำหรือตัดสินใจอะไรไป จนถึงเวลาที่งานดังกล่าวเสร็จสิ้น มองง่ายๆ ว่า ถ้าคลิกปุ๊บขึ้นปั๊บ กดปุ๊บได้ปั๊บ อันนี้คือเร็ว ไม่หน่วง แต่ถ้าคลิกลิงค์แล้วกว่าจะแสดงผลก็อืดอาด กดพิมพ์ตัวอักษรไปห้าหกตัวก็ยังค่อยๆ ขึ้นทีละตัวสองตัวไม่ทันใจ อันนี้เรียกหน่วงมาก Latency เยอะเกิน บางครั้งก็เกินจนแทบใช้งานแอพอะไรไม่ได้ หรือทำเอาคุณอาละวาดโยนคอมพ์ทิ้งกับพื้นด้วยความหงุดหงิด

และปัจจุบันที่การทำงานเริ่มอ่อนไหวกับความไม่ทันใจเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้งานผ่านคลาวด์ ซึ่งต้องการการสื่อสารระหว่างเครื่องผู้ใช้กับเซิร์ฟเวอร์ที่ออนไลน์อยู่อีกฟากหนึ่งแบบเรียลไทม์ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ผู้ใช้หรือลูกค้าต้องอารมณ์เสียแบบเดียวกับตอนที่คุณส่งไลน์แล้วไม่ค่อยไปล่ะก็ การสืบหาตัวการต้นเหตุความอืดบนเครือข่ายถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

จริงๆ มีสาเหตุของความหน่วงมากมายที่ไม่ได้เกิดจากเน็ตเวิร์ก เช่น การตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์ DNS ผิดหรือไม่เหมาะสม, การบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบหรือแออัดมากเกินไป, หรืออุปกรณ์เองเมมน้อยซีพียูห่วย ประมวลผลได้ไม่ทันใจ เป็นต้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้นเหตุส่วนใหญ่ยังอยู่บนเครือข่าย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาไม่ว่าจะเป็น สภาพหรือความสามารถในการรองรับของสายเชื่อมต่อทางกายภาพ และองค์ประกอบของเครือข่ายที่อยู่ระหว่างทางการเชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็นเราท์เตอร์, สวิตช์, แอคเซสพอยต์ ไปจนถึงอุปกรณ์เครือข่ายอื่นที่จำเป็นต้องเอามาขวางกลางเส้นทางเชื่อมต่ออย่างเช่น ตัวแบ่งโหลด หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างไฟร์วอลล์และ IPS

ทั้งนี้ เราได้รวบรวมสาเหตุของความหน่วงที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย ที่พบบ่อยในหลายองค์กรรวมทั้งสิ้น 7 ประการ ที่คุณควรตามล่าแล้วกุดหัวมันให้สิ้นอย่างรวดเร็วดังต่อไปนี้

1. จำนวน Hop และระยะทางระหว่างต้นทางปลายทาง

แน่นอนว่าถ้าอุปสรรคเยอะเกิน กว่าจะถึงปลายทางต้องวิ่งไปประมวลผลที่เราท์เตอร์อันโน้น เกตเวย์อันนั้น หรือต้องใช้เส้นทางที่ดูต้องฝ่าฟันหรือมี Cost เยอะเกินไป ย่อมทำให้เกิดดีเลย์ตามมาอย่างช่วยไม่ได้ (บางคนมอง Delay เป็นเวลาที่ข้อมูลวิ่งจากเน็ตเวิร์กหนึ่งไปอีกเน็ตเวิร์ก และ Latency เป็นเวลาที่ต้องใช้ในการประมวลผลบนเน็ตเวิร์กหรือเราเตอร์นั้น เช่น กว่าจะดูเทียบเฮดเดอร์ว่า MAC อะไร จับคู่กับไอพีอะไร ไปหาไอพีปลายทางนี้จะเลือกเส้นทางไหนดี ก่อนจะห่อเฟรมกลับตามชนิดสื่ออันถัดไป ฯลฯ)

2. คอขวด

แหงล่ะแม้จุดอื่นๆ บนเน็ตเวิร์กวิ่งไววิ่งฉิว แต่ถ้ามีใครเป็นจุดอ่อนที่สุดในทีมเราก็ต้องกำจัดทิ้งไม่ให้มาถ่วงความเจริญบนเครือข่าย เช่น สายอัพลิงค์ที่เชื่อมระหว่างสวิตช์ ที่รวมข้อมูลจากเครื่องลูกจำนวนมากจากทั้งสองสวิตช์สื่อสารระหว่างกันนั้น จะมาใช้สายหรือให้แบนด์วิธเล็กเท่าสายที่เชื่อมกับเครื่องลูกธรรมดาย่อมเป็นไปได้ เดี๋ยวก็เบียดเหยียบกันตาย เป็นต้น

3. การตั้งค่า QoS

หรือการให้อุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างทางเชื่อมต่อเข้าใจตรงกันว่า เธอต้องให้ข้อมูลวอยซ์ไปก่อนนะ พวกข้อมูลผลาญแบนด์วิธอย่างสตรีมมิ่งทั้งหลายก็จัดเลนพิเศษให้มัน จำกัดแบนด์วิธอย่าให้มารบกวนการเชื่อมต่อของข้อมูลสำคัญ เพราะถ้าใครดันไม่รู้จักจัดไพรออริตี้อย่างถูกต้อง หรือเข้าใจกันคนทิศคนละทาง ก็เหมือนกับอยู่บนถนนที่ผ่านสิบไฟแดงแล้วเจอแต่ไฟเขียวห้าวิปุ๊บแดง ห้าวิปุ๊บแดงคาแยกแคลายจนแทบอยากเปิดประตูรถออกมาคุยกับป้อมตำรวจกลางสี่แยก

4. อุปกรณ์เครือข่ายที่สเปกต่ำเกิน

หรือห่วยเกินโหลดที่ต้องดูแล เช่น ไปเอาเราท์เตอร์ออลอินวันที่ใช้กันตามบ้านมาใช้กับออฟฟิศ เปิดไวเลสให้พนักงานกว่าห้าสิบหกสิบคนจนเครื่องร้อนและเอ๋อไปเป็นพักๆ ก็รู้อยู่ว่าของถูกฟีเจอร์เยอะบึ้มนั่นก็คงไม่ได้ใช้ซิปดีๆ หรือมีแรมเยอะพอจะทำงานได้ตามที่โฆษณาเสมอไป

5. ตั้งค่าเราท์ติ้งแบบงงๆ

เหมือนติดป้ายบอกทางวนไปวนมาจนข้อมูลหาทางออกไม่เจอ ทั้งบนเลเยอร์สองอย่างสแปนนิ่งทรี และเลเยอะสามอย่างเราท์ติ้งทั้งหลายไม่ว่าจะตั้งรายการตายตัวหรือใช้โปรโตคอลคอยปรับเส้นทางแบบไดนามิก การตั้งค่าที่ไม่เหมาะสมย่อมหน่วงประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

6. การเลือกชนิดของการเชื่อมต่อ

แน่นอนว่าสายเคเบิลย่อมเสถียรและโดนรบกวนน้อยกว่าไวเลสที่วิ่งอยู่บนอากาศอันเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางและสัญญาณรบกวน ดังนั้นการเชื่อมต่อใดที่ต้องการเสถียรภาพมาก ก็ควรลงทุนกับการลากสายที่มีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่เอาไฟล์เซิร์ฟเวอร์มาต่ออแดปเตอร์ไวไฟในบริษัท

7. อุปกรณ์อินไลน์ทั้งหลาย

ที่ตั้งขวางเส้นทางรับส่งข้อมูลก็อาจเป็นฆาตกรตัวจริงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโหลดบาลานซ์, ไฟร์วอลล์, IPS ทั้งหลายซึ่งถ้าเลือกสเปกที่รองรับทรูพุตน้อยเกิน หรือตั้งค่าไม่ดีพอ ก็จะหลายเป็นคอขวดหรือจุดอ่อนบนเน็ตเวิร์กได้ง่ายๆ

ที่มา : Networkcomputing