หน้าแรก Home feature 6 เทคนิคอัพเกรดระบบ Wi-Fi อย่างง่ายในองค์กร

6 เทคนิคอัพเกรดระบบ Wi-Fi อย่างง่ายในองค์กร

แบ่งปัน
wi-fi

กรณีที่บริษัทไม่ได้ปันงบในการอัพเกรดระบบแลนไร้สาย หรือ Wi-Fi ในปีนี้เลยสักนิด ขณะที่จำนวนผู้ใช้อุปกรณ์พกพาและเครื่องมือที่ต้องใช้ Wi-Fi เพิ่มขึ้นมหาศาล การแช่แข็งโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรองรับความต้องการที่โหดเหี้ยมขนาดนี้ไปทั้งปีคงไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไร

อย่างไรก็ดี มีหลายเทคนิคที่คุณอาจมองข้าม ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของ Wi-Fi ในองค์กรโดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมากจนน่าตกใจ แค่ต้องลงทุนทั้งเวลาและแรงกายมากกว่าเดิมสักนิด

ซึ่งทาง NetworkComputing.com ได้สรุป 6 เทคนิคง่ายๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพแลนไร้สายในบริษัทเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น หรือยืดอายุตัวเองก่อนถึงรอบอนุมัติงบประมาณปีถัดไปดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกการรองรับ 802.11b
เนื่องจากปีนี้ผู้ใช้น่าจะหันมาอัพเกรดอุปกรณ์ตัวเองให้รองรับมาตรฐานไวไฟที่เก่าสุดก็ 802.11g แล้ว ซึ่งการเปิดให้บริการรับส่งข้อมูลบนสัญญาณมาตรฐาน 802.11b ควบคู่กันไปอยู่ย่อมถ่วงความเจริญด้านความเร็วในการสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นที่แชร์ย่านความถี่ 2.4GHz เดียวกันอยู่ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ Wi-Fi ระดับองค์กรนั้นสามารถเซ็ตปิดการให้บริการสัญญาณ 802.11b ได้ง่ายอยู่แล้ว การบังคับปิดทางเลือกเก่านี้ย่อมช่วยผลักดันให้ผู้ใช้รุ่นดึกดำบรรพ์ต้องไปเสาะหาอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่รองรับมาตรฐานเครือข่ายไร้สาย 802.11g หรือใหม่กว่า และช่วยให้ผู้ใช้อื่นได้ใช้แบนด์วิธบนย่าน 2.4GHz ได้มากขึ้นหลายเท่า

2. เสาะหาและกำจัดสิ่งรบกวนสัญญาณไร้สาย
ขั้นต่อไปของการยกระดับประสิทธิภาพแลนไร้สายอย่างง่ายคือ การสำรวจและกำจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นสัญญาณ WiFi ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยใช้อุปกรณ์ตัววิเคราะห์สเปกตรัมคลื่น WiFi ที่สามารถสแกนแหล่งกำเนิดคลื่นอื่นในช่วงย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz ที่ไปรบกวนการทำงานของ 802.11 WiFi นอกจากนี้ แอคเซสพอยต์บางเจ้ายังสามารถทำตัวเป็น Spectrum Analyzer ในตัวได้ด้วย หรือแม้แต่การติดตั้งซอฟต์แวร์พิเศษบนแลปท็อปหรือแท็บเล็ตเพื่อใช้ส่วนคลื่นแทน ไม่ว่าจะเป็น Ekahau Spectrum Analyzer หรือ Netscout AirMagnet Spectrum XT เป็นต้น

หลายครั้งที่แหล่งกำเนิดคลื่นรบกวนนั้นจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นเตาอบไมโครเวฟ, โทรศัพท์ไร้สาย, กล้องวงจรปิดไร้สาย, หรือแม้แต่อุปกรณ์บลูทูชที่บกพร่อง นอกจากนี้ยังมักพบสัญญาณไร้สายจากอาคารหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างบริษัทที่แย่งส่งแทรกแซงเข้ามาในองค์กร แน่นอนว่ากรณีหลังเป็นการยากที่จะกำจัดต้นตอสัญญาณรบกวน แต่เราก็สามารถพิจารณาและกำหนดใช้ช่องสัญญาณหรือแชนแนลหลบให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดได้

3. เปลี่ยนตำแหน่งแอคเซสพอยต์
วิธีนี้สามารถเปลี่ยนประสิทธิภาพในการบริการสัญญาณไร้สายได้ชนิดพลิกจากหน้าเป็นหลังมือ เนื่องจากผนังห้องหรือสิ่งกีดขวางในตำแหน่งต่างๆ ที่สามารถสะท้อนหรือดูดซับคลื่นไร้สายได้ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการใช้บริการของผู้ใช้ แต่การหาตำแหน่งตั้งเอพีใหม่ที่ดูฉลาดมากที่สุดคือการสำรวจไซต์หรือทำ Site Survey เพื่อหาจุดบอดหรือตัวขัดขวางสัญญาณในพื้นที่ก่อน แทนที่จะนั่งเทียนโยกตำแหน่งแอคเซสพอยต์ไปมาบนเพดานตามสัญชาตญาณ

4. จัดการควบคุมการใช้ทรูพุตของผู้ใช้และแอพ
ด้วยจำนวนผู้ใช้และความหลากหลายของแอพที่ต่างแย่งชิงแบนด์วิธที่มีอยู่อย่างจำกัด การจัดลำดับความสำคัญของทั้งผู้ใช้และข้อมูลของแต่ละแอพย่อมทำให้การใช้งานโดยรวมมีประสิทธิภาพกว่าการปล่อยปละไม่ควบคุม ไม่ใช่เปิดกว้างให้พนักงานนำอุปกรณ์ตัวเองมาใช้ตามนโยบาย BYOD โดยเชื่อมต่อกับ SSID หลักที่ใช้ทำงานบริษัทโดยตรง แล้วปล่อยให้ยูทูปของมือถือผู้ใช้มาแย่งแบนด์วิธส่งเมล์สำคัญของเจ้านายได้

ซึ่งนอกจากเสี่ยงมากด้านความปลอดภัยข้อมูลแล้ว หัวฝ่ายไอทีอย่างคุณจะโดนเฉดออกจากบริษัทด้วย ควรสร้าง SSID แยกแล้วจำกัดแบนด์วิธที่ใช้ได้ของแต่ละ SSID หรือของแต่ละผู้ใช้ เพื่อบีบปริมาณการใช้แบนด์วิธสำหรับข้อมูลที่ไม่สำคัญได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ การใช้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอย่างไฟร์วอลล์แบบ Next-Gen ก็สามารถตรวจคัดแยกทราฟิกถึงลำดับชั้นแอพพลิเคชั่นเพื่อจำกัดทรูพุตสูงสุดผ่านโพลิซีสำหรับทราฟิกประเภทต่างๆ ทั้งการเล่นโซเชียล, โหลดบิท, เล่นเกมส์, หรือโหลดสตรีมมีเดียได้อย่างละเอียดด้วย

5. การทำ Band Steering
ซึ่งอุปกรณ์ WiFi ระดับองค์กรส่วนใหญ่มักมีฟีเจอร์นี้ ที่เปิดให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่หันมาใช้ย่านความถี่ 5GHz แทนในกรณีที่ย่านใหม่นี้มีสัญญาณรบกวนจากบริเวณรอบข้างน้อยกว่า ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมแออัดที่เต็มไปด้วยสัญญาณ Wi-Fi จากเพื่อนบ้านเข้ามาแทรกแซงมากมาย

6. การทำ Channel Bonding
การรวมช่องสัญญาณคลื่นความถี่หรือการทำ Channel Bonding เพื่อยกระดับแบนด์วิธให้กว้างมากขึ้นจนเข้าใกล้ความเร็วระดับแลนใช้สาย ซึ่งสามารถรวมเป็นคู่ไม่ว่าจะเป็นสองช่อง, 4, หรือแม้แต่ 8 ช่องสัญญาณรวมกัน แต่การขยายช่องสัญญาณยิ่งกว้างเท่าไร ก็ยิ่งเปิดรับสัญญาณรบกวนได้มากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิยมบอนดิ้งบนย่านความถี่ 5GHz มากกว่า เพราะพวกสัญญาณรบกวนจะพบบนย่าน 2.4GHz มากกว่าเป็นต้น

ที่มา : Networkcomputing