ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของ Wi-Fi เข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนธุรกิจไม่ว่าจะเป็นวงการการศึกษา, ค้าปลีก, บริการด้านสุขภาพ, หรือแม้แต่การโรงแรม ทั้งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของนักศึกษา, การทำธุรกรรมทางการเงิน, การแบ่งปันข้อมูลระหว่างแพทย์, หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมกับแฟนคลับต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง ย่อมทำให้เกิดความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่พยายามเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อให้แก่ผู้ใช้ที่หลากหลาย (หมอ, พยาบาล, เจ้าหน้าที่, ผู้ป่วย, คนที่มาเยี่ยม) รวมถึงความหลากหลายอุปกรณ์ (เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์, EMR แบบพกพา, หรือแม้แต่อุปกรณ์ IoT) ที่ต่างแย่งชิงย่านความถี่ในอากาศเดียวกัน
หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาก็ยังต้องดิ้นรนในการบริการผู้ใช้ที่อัดแน่นอยู่ทั้งในห้องเรียนรวมและห้องประชุมใหญ่ ร้านค้าปลีกก็ต้องการยกระดับประสบการณ์ใช้บริการของลูกค้าในร้านด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงโงแรมที่ต้องให้บริการการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์พกพาที่มากกว่าเมื่อก่อนถึง 8 – 10 เท่า โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการใช้งานที่กินแบนด์วิธสูงอย่าง Netflix และ Youtube ที่ต้องการเน็ตความเร็วสูง
โชคดีที่ปัจจุบันมีมาตรฐานเทคโนโลยี Wi-Fi ใหม่ล่าสุดที่ช่วยแก้ปัญหาการใช้งานเหล่านี้ และช่วยสร้างโอกาสในการประยุกต์ใช้งานรูปแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย อย่าง Wi-Fi 802.11ax ที่มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และควรทราบไว้ดังต่อไปนี้
1. 802.11ax เป็น Wi-Fi รุ่นที่ 6 แล้ว
เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมานั้น Wi-Fi เริ่มจากการเป็นฟีเจอร์ที่ “มีก็ดี” จนมาเป็น “สิ่งที่จำเป็นต้องมี” และปัจจุบันได้กลายเป็น “หนึ่งสาธารณูปโภค” เรียบร้อยเหมือนไฟฟ้าประปา ซึ่งไวไฟแต่ละรุ่นที่พัฒนาขึ้นมาให้ใช้กันนั้นก็ต่างมีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงยุคที่ 6 ที่มีฟีเจอร์ใหม่มากมาย เช่น OFDMA, อัพลิงค์ที่รองรับผู้ใช้หลายคน, ใช้พื้นที่คลื่นน้อยลง, 1024 QAM เป็นต้น ทำให้รองรับการใช้งานมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์, จำนวนผู้ใช้, และอุปกรณ์ IoT โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ
2. ประสิทธิภาพเหนือชั้นมาก
ขณะที่ Wi-Fi รุ่นก่อนๆ ให้ความสำคัญกับกำลังการเชื่อมต่อ แต่ 802.11ax ได้เน้นที่ความสามารถในการให้บริการโดยรวม ทั้งรองรับจำนวนอุปกรณ์พร้อมกันได้มากขึ้น และใช้ช่วงคลื่นที่มีอยู่ได้คุ้มค่ายิ่งกว่า ได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม รวมทั้งสามารถผูกรวมทราฟิกหลายชนิด ทั้งวิดีโอ, วอยซ์, หรือ IoT ที่กินแบนด์วิธมาก มัดส่งไปพร้อมกันได้โดยไม่เสียคุณภาพการสื่อสารลักษณะเหมือนแทนที่ไปรษณีย์จะแยกกล่องสำหรับแต่ละทราฟิก ก็มัดรวมอยู่ในกล่องหรือรถขนส่งเดียวกันสำหรับปลายทางเดียวกันเพื่อประหยัดเวลา
3. รองรับพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่นสูง
โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้งานแอพที่กินข้อมูลเยอะบนอุปกรณ์พกพาจำนวนมากอย่างเช่นในห้องเรียนรวม, หอประชุม, และหอพักนักศึกษาที่มีอุปกรณ์ Wi-Fi มาแย่งความถี่เดียวกันหลายเครื่อง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ของ 802.11ax อย่างเช่น OFDMA และการตั้งเวลาการใช้ทรัพยากรสำหรับลิงค์อัพโหลดและดาวน์โหลดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดบนย่านความถี่ที่มีจำกัด
4. ออกแบบมาเพื่อรองรับ IoT
โดยเฉพาะด้วยการสนับสนุนฟีเจอร์ Flexible Channel Sizes และ Resource Unitsที่ทำให้ผู้ให้บริการรองรับการใช้งาน IoT ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งขยายความครอบคลุมอุปกรณ์ IoT มากถึงหลายพันเครื่อง นอกจากนี้ อุปกรณ์ IoT ที่มักใช้แบนด์วิธน้อยนั้นก็สามารถจำกัดช่องสัญญาณให้แคบลงสำหรับ IoT โดยเฉพาะเพื่อประหยัดพลังงานได้ด้วย
5. การรองรับและใช้งานร่วมกัน
เพื่อที่จะใช้ความสามารถของ 802.11ax ได้อย่างเต็มที่นั้น ทั้ง AP และเครื่องลูกควรจะรองรับมาตรฐาน 802.11ax ด้วย แต่ถึงอย่างนั้น มาตรฐานใหม่นี้ก็ยังสนับสนุนและใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเก่าอย่าง 802.11a/b/g/n/ac ได้อยู่ ซึ่งองค์กรทั้งหลายควรประเมินความต้องการในสภาพแวดล้อมการทำงานของตนเองก่อนเลือกลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากมาตรฐาน Wi-Fi ก่อนหน้าย่อมยังมีการใช้งานเป็นส่วนใหญ่ในอีกหลายปี
6. การออกใบประกาศรับรองอุปกรณ์มาตรฐานใหม่
ขั้นตอนการออกใบประกาศให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งมาตรฐาน 802.11ax นี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปและประกาศใช้จริงภายในปี 2019 ที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าปัจจุบันยังไม่มีอะไรแน่นอนทั้งเรื่องกำหนดการและรายละเอียดของมาตรฐาน ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงควรระมัดระวังในการลงทุนซื้ออุปกรณ์หรือวางระบบในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะถ้าจำเป็นต้องตัดสินใจซื้อก่อนที่มาตรฐานนี้จะถูกประกาศใช้จริง เพื่อเป็นการประกันความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการลงทุน
ที่มา : Networkcomputing