หน้าแรก Home feature บทความ : 5 คำถามที่ควรตอบให้ได้ ก่อนที่จะเลือกใช้ Wi-Fi 6

บทความ : 5 คำถามที่ควรตอบให้ได้ ก่อนที่จะเลือกใช้ Wi-Fi 6

แบ่งปัน

มาตรฐาน Wi-Fi 6 (802.11ax) มีการพัฒนาจากเดิมมากมายที่น่าตื่นเต้นมากในโลกของไวไฟจนทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็วที่เชื่อมต่อไร้สายได้ระดับหลายกิกะบิตจริง รวมทั้งการรองรับเครือข่ายที่ใช้งานหนาแน่นสูงอย่างในสนามกีฬาด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีจุดที่ต้องระวังในการพิจารณาและวางแผนก่อนที่จะก้าวกระโดดไปใช้ Wi-Fi 6 อย่างจริงจังด้วย

1. เราจำเป็นกับความเร็วระดับนี้จริงหรือเปล่า?

เริ่มจากการตั้งคำถามว่าคุณจำเป็นต้องใช้ความเร็วระดับใหม่นี้จริงหรือ เนื่องจากเพื่อให้สามารถทำความเร็วไร้สายระดับหลายกิกะบิตได้นั้น

แอคเซสพอยต์ (AP) ของ Wi-Fi 6 ส่วนใหญ่จึงออกมาเพื่อใช้กับการเชื่อมต่อผ่านสายแลนแบบ 2.5 Gbps หรือ 5 Gbps เลยด้วย ขณะที่ถ้าเป็น AP ของมาตรฐาน Wi-Fi 5 เดิมเกือบทั้งหมดจะใช้อินเทอร์เฟซความเร็วแค่ 1 Gbps เท่านั้น

การเชื่อมต่อ AP แบบ Wi-Fi 6 เข้ากับเครือข่ายระดับกิกะบิตทั่วไปนั้นก็เป็นไปได้อยู่ แต่นั่นก็หมายความว่าจะเกิดคอขวดของความเร็วเน็ตโดยรวม หรือมองอีกมุม ผู้ใช้ไคลเอนต์ไวไฟเองก็อาจไม่ได้รู้สึกสะดุดขึ้นมาว่าไม่ได้ใช้ความเร็วได้เกิน 1 Gbps กัน ซึ่งในแง่หลังนี้ อาจชี้ว่าคุณอาจไม่จำเป็นที่ต้องใช้ความเร็วในการเข้าถึงไวไฟระดับสูงขนาดนี้ก็ได้ โดยการใช้งานไวไฟบนสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อปในสำนักงานทั่วไปนั้นก็ไม่ได้จะต้องใช้ความเร็วสูงมากมาย นอกจากอยู่บนเครือข่ายที่มีผู้ใช้หนาแน่นมาก

หรือในการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่อ่อนไหวง่าย ต้องการทรูพุตสูงอย่างเช่น การสตรีมมิ่งวิดีโอระดับ 4K โดยเฉพาะถ้าต้องโหลดคอนเท็นต์ดังกล่าวมาจากภายในแลนแทนที่จะมาจากอินเทอร์เน็ต (เพราะการเชื่อมต่อเน็ตของคุณอาจจะไม่ได้แรงถึงระดับนั้นด้วย)

2. ระบบ LAN ของคุณพร้อมไหม

คำถามต่อมาเป็นเครื่องของความพร้อมเครือข่ายแลนของคุณ ที่ควรประเมินก่อนว่าสายแลนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันรองรับความเร็วระดับหลายกิกะบิตตลอดทางหรือไม่

เริ่มตั้งแต่สวิตช์ที่อยู่ระหว่างเราท์เตอร์และ AP ว่ารองรับอัตรารับส่งข้อมูลสูงสุดเท่าไร หรือแม้แต่การเช็คตลอดเส้นทางจากไคลเอนต์ของไวไฟวิ่งไปถึงบนแลนจนถึงปลายทางที่ต้องการ เป็นต้น

ต่อมาเป็นเรื่องของ Power-over-Ethernet (PoE) ที่ควรเช็คมาตรฐาน PoE พร้อมกับอัตราการรับส่งข้อมูลที่รองรับด้วยพร้อมกัน

ซึ่ง AP ระดับ Wi-Fi 6 ส่วนใหญ่ล้วนต้องการมาตรฐาน PoE+ (802.3at) ขึ้นไป และถึงแม้จะมี AP บางตัวที่อาจใช้กับ PoE ระดับต่ำลงมาอย่าง 802.3af ได้ แต่ก็จะลดประสิทธิภาพการทำงาน จนทำให้ได้อัตรารับส่งข้อมูลสูงสุดเหลือแค่ 1 Gbps ตามไปด้วย เพื่อรองรับอนาคตอย่างยั่งยืน เราแนะนำให้ใช้มาตรฐาน PoE++ ใหม่ล่าสุด (802.3bt) ไปเลยถ้าสวิตช์หรืออุปกรณ์ปล่อยกระแสรองรับ

ต่อมาเป็นเรื่องของสายเคเบิล ที่ควรใช้ขั้นต่ำระดับ Cat6 ขึ้นไป

ไปจนถึงตัวเราเตอร์ ที่ควรเช็คว่าพอร์ตสวิตช์บนเครื่องรองรับความเร็วมากกว่า 1Gbps ด้วยหรือไม่

3. ตำแหน่งของการวาง AP ชัดเจนไหม?

อีกคำถามเป็นเรื่องของตำแหน่งในการวาง AP แน่นอนว่าเราควรสำรวจพื้นที่ (Site-Survey) ก่อนติดตั้งทุกครั้ง เพื่อหาตำแหน่งการวางที่ให้การครอบคลุม การทำโรมมิ่ง และประสิทธิภาพในการให้บริการไวไฟได้ดีที่สุด ซึ่ง Wi-Fi 6 อาจมีระยะครอบคลุมคล้ายเดิม แต่แตกต่างตรงที่การรองรับความหนาแน่นการใช้งาน

4. Wi-Fi 6 จะใช้ได้กับทุกคนหรือไม่?

แม้ว่า AP แบบ Wi-Fi 6 จะทำงานได้กับมาตรฐาน Wi-Fi เดิมก็จริง แต่คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าความเร็วมันมีการพัฒนาจริงหรือเปล่า นอกเสียจากว่าผู้ใช้งานทุกคนใช้ Wi-Fi 6 ทั้งหมด จริงอยู่ที่อุปกรณ์โมบายล์ดีไวซ์ต่างๆ ซัพพอร์ต Wi-Fi 6 แล้วก็ตาม แต่อุปกรณ์รุ่นเก่า ซึ่งพนักงานหลายคนก็ใช้กันอยู่ ก็ยังไม่ได้ซัพพอร์ตกันมากนัก ดังนั้นเป็นไปได้ที่คุณอาจจะชะลอการใช้งานไปก่อนก็ได้ แต่ในกรณีถ้ามีเครือข่ายแบบพิเศษ หรือ กลุ่มพิเศษที่ต้องเน้น Wi-Fi 6 ล้วนๆ ก็สามารถพิจารณาได้

5. คุณสมบัติต่างๆ ที่คุณต้องการนั้นมีพร้อมแล้ว?

เราจะได้เห็นคุณสมบัติต่างๆ ทยอยกันออกมาเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เราเห็นอุปกรณ์ที่สามารถรับส่งการสตรีมแบบพร้อมกันได้ 4 สตรีมและขยายเป็น 8 ได้ในตอนหลัง หรือในตอนนี้เราสามารถทำ Multi-user MIMO (MU-MIMO) ในแบบ AP-to-Client ขาดาวน์ลิงก์ และต่อมาเราก็เริ่มเห็นขาอัพลิงก์ Clients-to-AP ได้แล้ว และต่อมาเราก็เห็นความถี่แบบใหม่อย่าง OFDMA ที่ทำงานได้ในสองทางเลย ช่วยให้ยูสเซอร์หลายๆ คนใช้แบนด์วิธที่ต่างกันในขณะที่พวกเขาทำงานบน AP เดียวกันได้

ที่มา : Networkworld