เครือข่ายระดับองค์กรในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการนำคลาวด์มาใช้อย่างแพร่หลาย และการสื่อสารทางไกลที่มีความหนาแน่นมากขึ้น ดังนั้น การวางแผนอัพเกรดเครือข่ายขององค์กรขนาดใหญ่หรือ Campus Network จากเดิมที่เคยตรงไปตรงมาแค่เพิ่มแบนด์วิธ เพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มลิงค์ กลายเป็นการให้ความสำคัญกับผู้ใช้และแอพแทน ว่าอยู่ตำแหน่งตรงไหนบ้าง และจะจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละแอพได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างไรแทน
ทาง NetworkComputing.com จึงได้รวบรวมเทคนิค 5 ประการที่ทำให้แพลนขยายเครือข่ายขององค์กรได้ง่ายและครอบคลุมมากขึ้น ดังนี้
1. เปลี่ยนทิศทางการอำนวยความสะดวกของทราฟิก
จากเดิมที่ข้อมูลวิ่งไปมาระหว่างอุปกรณ์เอนด์พอยต์กับเซิร์ฟเวอร์กลางในดาต้าเซ็นเตอร์ กลายมาเป็นการสื่อสารผ่านเน็ตขึ้นไปบนคลาวด์แทน ดังนั้นถ้ายังยึดการกระจายแบนด์วิธหรือทรูพุตแบบเดิมย่อมเกิดคอขวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวางแผนขยายเครือข่ายจึงจำเป็นต้องเผื่อการเติบโตในอนาคต ทั้งทรูพุตและทิศทางการไหลของข้อมูลแบบใหม่ด้วย
2. อาจต้องยกเลิกการใช้ VPN
เพราะแทนที่จะสื่อสารระหว่างอาคารหรือสำนักงานสาขาแบบเดิม กลับมาใช้คลาวด์บนอินเทอร์เน็ตแทน ดังนั้นแทนที่จะจัดสรรทรัพยากรให้ระบบวีพีเอ็นก็ควรหันมายกระดับการรักษาความปลอดภัยของการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการคลาวด์หลายเจ้ากับเครือข่ายในองค์กรมากกว่า โดยเฉพาะการยืนยันตนและให้สิทธิ์การเข้าถึงของแต่ละการเชื่อมต่อและรวมศูนย์การจัดการการเชื่อมต่อทั้งหมดอยู่ที่เดียวกัน
3. คิดเผื่อปริมาณการใช้ WiFi เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
มากจนเข้ามาแทนที่การใช้สายแลนแบบเดิมก็หันมาเชื่อมต่อไร้สายกันมากขึ้น ด้วยเฉพาะตัวเซ็นเซอร์ IoT จำนวนมาก จึงต้องวางแผนเผื่อการเติบโตของการสื่อสารไร้สายทั้งด้านปริมาณการรองรับ, ทรูพุต, และการสำรองการทำงาน
4. การใช้ระบบตรวจสอบสถานะ และออโตเมชั่น
ปัจจุบันเครือข่ายมีความซับซ้อน จนจำเป็นต้องสามารถมองทราฟิกได้ถึงระดับเลเยอร์ 7 ตามโมเดล OSI ดังนั้นการใช้ทูลตรวจสอบประสิทธิภาพเครือข่ายจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแอพอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการใช้เทคนิคออโตเมชั่นในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำเพื่อแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่
5. เตรียมรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เช่น SDN และ Intent-Based
Networking (IBN) ซึ่งควรขอความช่วยเหลือจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์หรือโซลูชั่นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดหาฮาร์ดแวร์ที่ทั้งทำหน้าที่เราท์ติ้งสวิตชิ่งแบบเดิม แต่สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ SDN หรือ IBN เมื่อพร้อมใช้งานในอนาคต เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว
ทีีมา : Networkcomputing