หน้าแรก Cloud 12 เทคโนโลยีเขย่าวงการธุรกิจ ที่ต้องไล่ตามให้ทันในปีนี้

12 เทคโนโลยีเขย่าวงการธุรกิจ ที่ต้องไล่ตามให้ทันในปีนี้

แบ่งปัน

ปี 2561 นี้ ถือเป็นเวลาทีหลายเทคโนโลยีที่เฝ้าพัฒนาฟูมฟักกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบสมองกลหรือ AI, การประมวลผลภาษาให้เป็นธรรมชาติ, หรือแม้แต่ระบบประมวลผลจากภาพ เป็นต้น ที่สมบูรณ์พร้อมนำมาใช้กับธุรกิจจริง โดยเฉพาะนำมาใช้แย่งความได้เปรียบกับคู่แข่ง รวมทั้งนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเพื่อเอามาวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีต่างกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เรียกว่า การปฏิรูปทางดิจิตอล (Digital Transformation) ที่เน้นการเอาเทคโนโลยีมาทำรายได้ หรือปรับโมเดลธุรกิจตัวเองให้มีรายได้มากขึ้น ที่จะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจกับ 12 เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนวิธีทำเงินของคุณกันให้ถ่องแท้ก่อนคู่แข่งดังต่อไปนี้

1.      เทคโนโลยีบริการสุขภาพแบบอัจฉริยะ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการได้อย่างง่าย, มีคุณภาพสูง, ในราคาย่อมเยา เช่น การตรวจสุขภาพจากระยะไกลผ่านอุปกรณ์แบบใส่ติดตัวหรือ Wearable ที่กำลังแพร่หลายอยู่ปัจจุบัน

2.      ระบบวิดิโอ โดยเฉพาะการประชุมผ่านวิดิโอ และ VR โดยผู้เชี่ยวชาญสังเกตพบการลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อตอบโจทย์การทำงานแบบคล่องตัวหรือ Agile ที่จำเป็นต้องให้ทีมงานที่พัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถพูดคุยกันแบบต่อหน้า หรือใช้เทคโนโลยีที่เลียนแบบได้ผลดีที่สุด โดยใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีอย่าง VR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานการทำงานร่วมกัน

3.      บอทโต้ตอบอัตโนมัติหรือ Chatbot ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้าทั่วไป รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการปรับปรุงให้เข้าใจโทนเสียง, เนื้อหา, และวิเคราะห์บทสนทนาได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะมีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าAI อาจจะไปเรียนรู้คำแปลกๆ หรือการสนทนาที่บริษัทควบคุมไม่ได้ หรือกระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทได้ อย่างที่เคยเห็นกับบอททวีต AI ทดลองที่โดนผู้ใช้สอนจนนิสัยเสียที่เป็นข่าวดังในช่วงที่ผ่านมา

4.      IoT แน่นอนว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายและยกระดับการทำงานในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างการเชื่อมต่อและใส่ความฉลาดให้แก่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ซึ่งผลการศึกษาพบว่ายิ่งนำ IoT มาใช้ได้เร็วเท่าไร ยิ่งช่วยลดดาวน์ไทม์, ของเสียจากการผลิต, รวมไปถึงการใช้พลังงานในโรงงานได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยใหม่ๆ ตามมาเช่นกัน เนื่องจากการนำ IoT มาใช้ในช่วงแรกนั้น หลายบริษัทไม่ได้คำนึงถึงช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่มีมากมายตามมาด้วยเท่าไรนัก

5.      ระบบควบคุมเสียง และผู้ช่วยแบบเวอร์ช่วลอย่างสิรีหรือ Google Assistant ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น อย่างในโลกธุรกิจก็มี Alexa for Business ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ระบบผู้ช่วยแบบพูดคุยได้นี้จะนำมาใช้แทนที่การป้อนคำสั่งต่างๆ เช่น เอามาแทนหน้าจอหรือคีย์บอร์ปัจจุบันได้

6.      ประสบการณ์ใช้งานแบบเรียลลิตี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น AR, VR, หรือผสมกันทาง Gartner มองว่าปีนี้จะมีธุรกิจนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มากถึง 20% โดยเฉพาะการใช้หน้าจอแบบสวมหัวหรือ HMD ที่เราเห็นกันอย่างที่ซัมซุงเอามาโชว์ที่พารากอนเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่จะมีการใช้ AR ทั้งด้านธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งในอุตสาหกรรมเพื่อแสดงข้อมูลซ้อนภาพขึ้นมาเกี่ยวกับข้อมูลของสินค้าหรือทางเทคนิค หรือการแสดงภาพที่แตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้าในสนามบิน เป็นต้น

7.      ระบบการผลิตแบบอัจฉริยะ เช่น การทำงานที่ไม่ต้องใช้มือ หรือการปริ๊นท์งานแบบสามมิติที่ตัวเลขยอดขายพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

8.      การประมวลผลจากภาพหรือ Computer Vision ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการดึงลูกค้าจากร้านออนไลน์กลับมายังร้านสาขาจริงเช่น ระบบซื้อของในซุปเปอร์แบบไม่ต้องรอคิวคิดเงินที่แคชเชียร์ แค่หยิบของเดินออกจากร้านปุ๊บเงินตัดบัตรปั๊บอย่าง Amazon Go

9.      AI สำหรับการให้บริการต่างๆเช่น การนำระบบของ IBM Watson มาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์, กฎหมาย, หรือโดยเฉพาะในโรงพยาบาล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ตลอดเวลา และจำเพาะแตกต่างกันระหว่างบุคคล เช่น บอทที่คอยดูแลลูกค้าโรงแรม

10.  ระบบคอนเทนเนอร์ และไมโครเซอร์วิส ทำให้การพัฒนาแอพเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแอพที่ใช้กับ IoT หรือบนคลาวด์ ซึ่งองค์กรต่างเลือกใช้แพลตฟอร์มจัดการคอนเทนเนอร์อย่าง Docker, Kubernetes หรือ Cloud Foundry มากขึ้นเรื่อยๆ

11.  บล็อกเชน ที่นอกเหนือจากเรื่องเงินคริปโต เช่น การนำมาใช้ปรับปรุงซัพพลายเชน และระบบความปลอดภัย เช่น นำมาใช้กับระบบบัญชีหรือการชำระเงินที่ต้องเทียบตัวเลขให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

12.  ระบบประมวลผลจากคลาวด์ไปยัง Edge หรือการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์เอนด์พอยต์ไปประมวลผลบนคลาวด์ ที่ช่วยลดดีเลย์, การทำงานซ้ำซ้อน, รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายหรือสเปกที่ต้องลงทุนกับอุปกรณ์ปลายทางด้วย

ทั้งนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตในความวิตกเกี่ยวกับด้านจริยธรรมที่อาจกระทบจากการปฏิรูปทางดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลิกจ้างพนักงานที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานแทนได้ หรือเกี่ยวกับกฎระเบียบมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ธุรกิจจะต้องคำนึงให้ครบรอบด้าน

ที่มา : https://www.cio.com/article/3254744/emerging-technology/technologies-that-will-disrupt-business.html