ปกติแล้วทูลเน็ตเวิร์กที่มีใช้งานบนวินโดวส์มักอยู่ในรูปโปรแกรมแบบคอมมานด์ไลน์ ไม่ก็เป็นแอพพลิเคชั่นที่รันบนเดสก์ท็อป แต่รู้หรือไม่ว่าสำหรับวินโดวส์ 10 แล้ว มีทูลเน็ตเวิร์กให้โหลดมาใช้อย่างสะดวกสบายในรูปของแอพที่อยู่บน Microsoft Storeด้วย
ซึ่งทาง NetworkWorld.com ได้รวบรวมแอพทูลเน็ตเวิร์กที่น่าสนใจ 10 ตัวบนไมโครซอฟท์สโตร์ที่สามารถติดตั้งและแสดงอยู่ในรูปไอคอนบนสตาร์ทเมนูให้เปิดใช้งานได้ง่ายๆ และที่สำคัญคือ “ฟรี” ดังต่อไปนี้
1. All My LAN
แสดงรายการที่อยู่ไอพี, ชื่อโปรไฟล์, และความเร็วอัพโหลดดาวน์โหลดสูงสุดของโฮสต์ที่อยู่บนเครือข่าย รวมถึงปริมาณข้อมูลที่รับส่งบนเครือข่ายในรูปของกราฟที่ปรับแต่งให้แสดงย้อนหลังได้นานถึง 30 วัน นอกจากนี้ยังใช้สแกนเซอร์วิสมัลติคาสต์ DNS หรืออุปกรณ์ UPnP ที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายได้ด้วย
2. Data Usage
คอยออดิทเครื่องปัจจุบันพร้อมรายงานข้อมูลอุปกรณ์พกพาหรือเครือข่าย Wi-Fi ที่เครื่องเชื่อมต่ออยู่ โดยครั้งแรกที่เปิดใช้จะเสียเวลาในการตรวจสอบการเชื่อมต่อประมาณหนึ่ง จากนั้นก็สามารถแสดงปริมาณข้อมูลที่คอมพิวเตอร์ใช้บนเน็ตเวิร์กในรูปกราฟทั้งกราฟเส้นและกราฟวงกลม แบ่งเป็นปริมาณการใช้งานแต่ละเครือข่ายในช่วงเดือนปัจจุบัน เป็นต้น
3. Network Inspector
รวมทูลสำหรับสแกนเครือข่าย รวมถึงสัญญาณ Wi-Fi ด้วย ถือเป็นแอพที่ค่อนข้างเน้นไปที่เครือข่ายสัญญาณบลูทูชโดยมีฟีเจอร์ที่ชื่อ Bluetooth Watcher ที่คอยอัพเดทรายการอุปกรณ์บลูทูชที่อยู่ภายในบริเวณที่สนใจ โดยมีช่องค้นหาสำหรับหาอุปกรณ์บลูทูชที่ส่งสัญญาณออกมาเพียงแค่ใส่ไอดีของอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีทูลที่น่าสนใจอย่างตัวตรวจสอบ HTTP ที่คอยสแกนและแสดงรายการเซิร์ฟเวอร์HTTP บนซับเน็ตของเครื่องตัวเอง รวมทั้งเปิดหน้าเพจที่พบและแสดงข้อมูลเกี่ยวข้องอย่างเฮดเดอร์
4. Network Port Scanner
เป็นแอพสแกนพอร์ตพื้นฐานสำหรับตรวจสอบเครือข่ายว่ามีพอร์ตไหนเปิดทิ้งไว้ หรือเปิดเผยที่อยู่ไอพีโดยไม่มีการปกป้อง ซึ่งเราสามารถใส่ช่วงที่อยู่ไอพีและเลขพอร์ตให้แอพสแกนแบบเจาะจงได้อย่างรวดเร็วด้วย
5. Termius
เป็นไคลเอนต์ SSH เต็มรูปแบบ โดยเปิดให้เชื่อมต่อโฮสต์หลายเครื่องได้พร้อมกัน รองรับการฟอร์เวิร์ดพอร์ตรวมทั้งจัดการเซิร์ฟเวอร์เป็นกลุ่มๆ เพื่อจัดการรหัสผ่านและที่อยู่เซิร์ฟเวอร์สำหรับการเข้าถึงภายหลังได้อย่างรวดเร็ว
6. UDP Sender/Receiver
เป็นแอพส่งข้อมูลในรูป UDP (เช่น Datagram) ไปยังเครื่องไคลเอนต์อื่น รวมทั้งรับฟังแพ็กเก็ต UDP เพื่อทดสอบการตอบสนองของโปรโตคอลนี้บนเครือข่าย ซึ่งฟีเจอร์รับส่ง UDP นี้มี 3 โหมดให้ใช้ได้แก่ โหมด Sender Onlyที่เปิดให้เข้าถึงที่อยู่ไอพีและเลขพอร์ตของเครื่องโฮสต์จากระยะไกล พร้อมทั้งส่งดาต้าแกรมไปยังไคลเอนต์เครื่องอื่น, โหมด Receiver Only ที่เปิดให้แอพฟังแพ็กเก็ต UDP ที่พอร์ตบนเครื่องตัวเอง, และโหมด Sender/Receiver ที่รวมทั้งสองโหมดข้างต้นพร้อมกัน
7. vxUtil
เป็นชุดยูทิลิตี้ที่นิยมใช้บนเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตอันได้แก่ DNS Audit, DNS Lookup, Finger, ตัวสแกนพอร์ต, ตัวคำนวณซับเน็ต, และการค้นหาผ่าน WHOIS นอกจากนี้ยังมีทูลน่าสนใจอย่างตัวดูดข้อมูล HTML จากแค่ URL, ดึงข้อมูล Quotation จากเซิร์ฟเวอร์Quote, สั่งเปิดคอมพิวเตอร์จากระยะไกลผ่านฟีเจอร์ Wake-on-LAN, รวมทั้งเรียกดูเวลาบนไทม์เซิร์ฟเวอร์เป็นต้น
8. Wake on LAN (Magic Packet)
เป็นแอพสร้างชอร์ทคัทเพื่อปลุก หรือสั่งเปิดคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นผ่านแลน ด้วยการตั้งค่าเกี่ยวกับอุปกรณ์อย่างชื่อ, MAC Address, ข้อมูลเครื่องโฮสต์และพอร์ท เป็นต้น พร้อมปักหมุดเป็นชอร์ทคัทที่สตาร์ทเมนูเพื่อให้สะดวกต่อการสั่งเปิดอุปกรณ์ดังกล่าวเพียงแค่คลิกปุ่มที่สร้างเท่านั้น
9. What’s IP
คล้ายกับแอพ All My LAN แต่เรียบง่ายกว่า แถมด้วยฟีเจอร์การแสดงบน Live Tile ของวินโดวส์ โดย What’s IP แสดงสเปกของเครือข่ายที่คอมพิวเตอร์กำลังเชื่อมต่อ พร้อมกับกราฟแท่งและกราฟเส้นที่แสดงปริมาณข้อมูลที่กำลังใช้งาน ทุกอย่างรวมอยู่ในหน้าต่างเดียวโดยไม่ต้องเปิดหาหน้าอื่นให้ซับซ้อน พร้อมเลือกช่วงเวลาของข้อมูลที่ต้องการแสดงตั้งแต่ 24 ชั่วโมงที่แล้วย้อนไปได้ถึง 28 วันเลยทีเดียว
10. WiFi Analyzer
เป็นแอพตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ WiFiโดยเฉพาะ ที่ให้ภาพกราฟิกแสดงความแรงของสัญญาณได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถแสดงข้อมูลความเข้มของสัญญาณ WiFiที่อยู่รอบตัวได้แบบเรียลไทม์ เลือกรูปแบบกราฟิกได้ทั้งแบบเส้นหรือพาราโบลิก รวมทั้งยังเลือกแสดงเฉพาะแต่ละย่านความถี่ (เช่น 2.4 GHz และ 5 GHz) ได้ด้วย หรือจะแสดงในรูปของกราฟแท่งแสดงความแรงของสัญญาณและข้อมูลทางเทคนิคของสัญญาณ Wi-Fi ใกล้เคียงเปรียบเทียบกันก็ได้ และถ้าอัพเกรดไปใช้รุ่น Pro (ค่าบริการ 2 ดอลลาร์ฯ ต่อปี) จะได้ใช้ฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่างเซ็นเซอร์ที่แจ้งเตือนเมื่อพบความแรงของสัญญาณที่ตั้งไว้ รวมทั้งแสดงข้อมูลเน็ตเวิร์กที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันเชื่อมอยู่บน Live Tile แบบเรียลไทม์ เป็นต้น
ที่มา : Networkworld