สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย หรือ TAITRA (Taiwan External Trade Development Council) จัด”งานแถลงข่าวอุตสาหกรรม AIoT ของไต้หวันและ COMPUTEX 2018” ผลักดันนโยบาย “มุ่งใต้” (Go South) ของรัฐบาลไต้หวัน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในทุกด้าน และช่วยสนับสนุนบริษัท ICT ไต้หวันในการขยายแผนธุรกิจมายังประเทศไทย รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ICT ระหว่างทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้เพื่อกรุยทางให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกต่อไปในอนาคต รัฐบาลไต้หวันได้นำเสนอแผนพัฒนา “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” (Asian Silicon Valley) ในการสานต่อการพัฒนาเทคโนโลยี IoT ล้ำสมัย รวมถึงการสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก และด้วยพื้นฐานธุรกิจ OEM/ODM บวกกับความสามารถด้าน R&D ที่มั่นคง ทำให้ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในด้านห่วงโซ่อุปทาน ICT ระดับโลกและระบบนิเวศ AIoT อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรม ICT ของไต้หวันยังผันตัวเองจากการประมวลผลทางอินเตอร์เน็ตและการผลิตฮาร์ดแวร์มาเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น AIoT ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่ง (Artificial Intelligence of Things – AIoT) จะเป็นตัวกระตุ้นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันภายในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมในประเภทนี้ของไต้หวันจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปีภายในปี พ.ศ. 2561 ตามอุปสงค์ที่สูงขึ้นของอุปกรณ์วงจรรวม (integrated circuit – IC) สำหรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์
เอมีเลีย ซือ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนิทรรศการ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) กล่าวว่า “ด้วยการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากอุตสาหกรรม ICTของไต้หวัน ทำให้งาน COMPUTEX ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าระหว่างผู้ประกอบการจากภาคส่วน ICT IoT และธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้ทันสมัยตามกระแสเทคโนโลยีระดับโลกเสมอ
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา งานแสดงสินค้านี้ได้ปรับจุดยืนเป็นการสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีในระดับโลก (Building Global Technology Ecosystems) การเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งงาน COMPUTEX ประจำปี 2017 ที่มีผู้จัดแสดง 1,600 ราย จาก 26 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมชมงานจากทั่วโลกมากกว่า 40,000 คน จาก 170 ประเทศ รายชื่อผู้จัดแสดงชั้นนำรวมถึง TESLA, NVIDIA, ARM, Intel, Microsoft, Supermicro, Hisense, Micronix, NTT, Acer, Asus, MSI, BenQ, Clevo, Delta, Cooler Master, Thermaltake ฯลฯ ในจำนวนผู้เข้าชมนิทรรศการ ยังรวมถึงบายเออร์ นักลงทุนในสตาร์อัพ (Venture capitalist – VC) และนักระดมทุน” เอมีเลีย ซือ กล่าว
ภายใต้แนวทางใหม่นี้ งาน COMPUTEX 2018 ได้ให้ความสำคัญแก่ธีมหลัก 6 ธีม คือ AI & Robotics, 5G, Blockchain, IoT, Innovations & Startups และ Gaming & VR ซึ่งพื้นที่จัดแสดงสองส่วนสำหรับ SmarTEX และ InnoVEX จะเป็นไฮไลท์ของงาน COMPUTEX 2018 และ SmarTEX คือเวทีสำหรับการประยุกต์ใช้ IoT แบบล่าสุด ซึ่งรวมทั้งการประยุกต์ใช้ด้านความปลอดภัย บ้านอัจฉริยะ สาธารณสุขอัจฉริยะ เทคโนโลยีแบบสวมใส่พกพา (wearables)และกีฬา โซลูชั่นส์เทคโนโลยีอัจฉริยะ และระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะกับทุกสิ่ง (vehicle-to-everything “V2X”) ในขณะที่ InnoVEX ออกแบบมาเพื่อให้ธุรกิจสตาร์อัพด้านนวัตกรรมระดับโลกได้ติดต่อและพบปะกัน เพื่อพบกับพันธมิตรด้านกลยุทธ์ที่ใช่โดยเฉพาะ
“งานนี้ไม่ได้มีแค่ส่วนจัดแสดงเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งงานแถลงข่าวนานาชาติ พิธีเปิด การอภิปราย CPX รวมถึงการบรรยายและการสัมมนาด้าน ICT จำนวนมาก งานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จากผู้จัดแสดง การแข่งขันพิชชิ่งธุรกิจสตาร์ทอัพ การสาธิตธุรกิจสตาร์ทอัพ การจับคู่ผู้ประกอบการ ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลากของผู้จัดแสดง ผู้เข้าชมงาน และสื่อระดับโลกอีกด้วย” เอมีเลีย ซือ กล่าวสรุป