การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) มีมาหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นที่สหรัฐฯ กับรัสเซียต่างสอดแนม กุข่าว สร้างเรื่องลวงโลกที่เล่นกับความรู้สึก ยกระดับความกลัวของคนหมู่มากผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนามาตลอดตั้งแต่หนังสือพิมพ์, วิทยุกระจายเสียง, ไปจนถึงช่องทีวีต่างๆ
Trend Micro สรุปว่าความสำเร็จของการสร้างข่าวลวงชวนเชื่อมีอยู่สองปัจจัย ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและมีมูลค่าสูงให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และการมีช่องทางการสื่อสารที่แข็งแกร่งพอที่จะกระจายไปยังคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว ดูน่าเชื่อถือมากที่สุด
ทั้งนี้ การโฆษณาลวงชวนดราม่าในปัจจุบันก็วิ่งตามเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี แถมยังได้ผลกว่าเดิมมากมาย ไม่ว่าจะด้านปัจจัยการรวบรวมข้อมูลที่ใช้วิธีแฮ็กฐานข้อมูลหรืออุปกรณ์ส่วนบุคคลต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่สองก็มีทั้งสังคมออนไลน์อุดมดราม่า และสำนักข่าวเสี้ยมทั้งหลายบนโลกไซเบอร์ที่กระจายเรื่องต่างๆ ที่ตนต้องการออกมาได้เร็วและอิมแพคมาก
อ่านข่าว : การหลอกลวงแบบใหม่ที่แยกความจริง-ความลวงแทบไม่ออก
เรียกได้ว่า การโฆษณาชวนเชื่อปัจจุบันกลายเป็นยุทธวิธีทางไซเบอร์เป็นหลักไปแล้ว ซึ่ง Cyber Propaganda นี้เน้นการใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ทั้งด้านการล้วงความลับ และการตีแผ่แก่คนหมู่มาก โดยเป้าหมายมีตั้งแต่การดิสเครดิตเป้าหมาย, เปลี่ยนทิศทางของผลการเลือกตั้ง, ไปจนถึงการสร้างความตื่นกลัว หวาดผวาของคนในสังคม
Trend Micro ได้แบ่งเทคนิคการสร้างข่าวลวงทางไซเบอร์ไว้สามแบบได้แก่
– การแฮ็กฐานข้อมูล เช่นเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว หรือดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ แล้วค่อยเอามาเลือกปล่อยในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลศัตรู และใช้เวลานานพอสมควร
– การแฮ็กเครื่องจักร เช่น แฮ็กเครื่องประมวลผลการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์
– การสร้างข่าวลวงโดยตรง ถือเป็นเทคนิคทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมได้เร็วแทบจะในทันที อาจจะออกมาเป็นเนื้อหาข้อความ หรือรูปภาพลวง แล้วปล่อยบนโลกโซเชียลให้คนที่ไม่ยั้งคิดช่วยแพร่กระจาย
การป้องกันที่ดีที่สุด ควรป้องกันตั้งแต่ปัจจัยแรก ด้วยการติดตั้งระบบป้องกันและยืนยันตนที่เพียงพอบนอุปกรณ์ส่วนตัว และช่องทางการสื่อสารต่างๆ แต่ถ้าเกิดข่าวลวงแพร่กระจายไปแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างข่าวจริง ชี้แจงเพื่อตอบโต้อย่างชัดเจน ดีกว่าไปคอยปิดกั้นหรือโจมตีผู้ปล่อยข่าวโดยตรง เพราะเอาจริงๆ มนุษย์ก็ไม่ได้โง่
ด้าน Myla V. Pilao ตำแหน่ง Director จาก TrendLabs เปิดเผยว่าภัยอย่าง Cyber Propaganda เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก และยังมีภัยอีกประเภทหนึ่งก็คือ Ransomware ที่มีความน่ากลัวไม่แพ้กัน อย่างกรณี WannaCry ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรมากมาย ซึ่งเราเองในฐานะผู้ใช้งานจำเป็นต้องสร้างระบบการป้องกันและความตระหนักรู้ที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง