ผู้ให้บริการอีเมล์ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความปลอดภัยที่สูงมากพอ คุณยังต้องเผชิญกับอันตรายที่เกิดจากข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
ไม่ว่าจะเป็นการที่แฮ็กเกอร์ที่สามารถลอบเข้าไปในบัญชีก็สามารถอ่านข้อความที่ไม่ได้เข้ารหัสได้ หรือการที่เธิร์ดปาร์ตี้สามารถเข้าถึงข้อความ และกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับภาครัฐหรืออาชญากรไซเบอร์ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ทาง ISP จะคัดลอกทำสำเนาข้อความที่คุณส่งเข้าออก เป็นต้น
นี่จึงเป็นที่มาของบริการอีเมล์แบบเข้ารหัส ที่นอกจากจะทำให้การสื่อสารแต่ละครั้งมีความปลอดภัยแล้ว ยังหลีกเลี่ยงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคุณด้วยการเรียกร้องข้อมูลส่วนบุคคลให้น้อยที่สุดตอนที่คุณลงทะเบียนเปิดบัญชีครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งทางเว็บ HackRead.com ได้แนะนำบริการอีเมล์เข้ารหัสอยู่ 7 รายด้วยกันดังนี้
1. ProtonMail
ผู้ให้บริการอีเมล์รายนี้ได้รวมเอาฟีเจอร์ความปลอดภัยที่หลากหลายมาผสานรวมในบริการเดียว โดยเฉพาะการเข้ารหัสแบบ End-to-End ที่ทำให้แน่ใจว่าข้อความถูกเข้ารหัสก่อนที่จะถูกส่งออกไป โดยผู้รับจะมีคีย์สำหรับถอดรหัสที่จำเพาะ
2. Posteo.de
บริการอีเมล์แบบเข้ารหัสจากทางเยอรมัน ที่มีหลายแพลนให้เลือกตามวามต้องการ อย่างเลเวลเบสิกที่คิดค่าบริการ 1 ยูโรต่อเดือน จะมีฟีเจอร์ที่รองรับบริการทั้ง POP3 และ IMAP จุดขายที่สำคัญมากของเจ้านี้คือ คุณไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ เลยตอนสมัคร ถือว่าเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวได้อย่างแท้จริง
3. Countermail
เจ้านี้มีฟีเจอร์ที่เน้นความปลอดภัยในการสื่อสาร ทั้งการเข้ารหัสแบบ End-to-End และคีย์เข้ารหัสที่มีให้เลือกกว่า 4,000 แบบ เพื่อเข้ารหัสทั้งข้อมูลที่สื่อสาร และข้อความที่อยู่ในเมล์บ็อกซ์กรณีที่แฮ็กเกอร์เข้าถึงบัญชีคุณได้อีกด้วย
4. Tutanota
เป็นอีกบริการที่มีฟีเจอร์ความปลอดภัยที่หลากหลาย โดยเฉพาะการที่ทำงานด้วยโมเดลแบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งทำให้ความเร็วในการพัฒนา (ร่วมกัน) เร็วกว่าบริการเจ้าอื่นมาก รวมทั้งมีให้เลือกทั้งแบบฟรีและแบบจ่ายเงิน ซึ่งไม่ว่าจะใช้แบบฟรีหรือจ่ายก็จะมีการเข้ารหัสอย่างปลอดภัยให้กับเมล์ทุกฉบับที่คุณรับส่ง
5. Kolab Now
เจ้านี้มีโครงสร้างราคาที่หลากหลายมาก โดยแพลนระดับแรกสุดอยู่ที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งคุณจะได้สตอเรจขนาด 1GB พร้อมให้การเข้ารหัสแบบ End-to-End ที่ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยกับทุกเมล์เข้าออกของคุณ
6. Riseup
เป็นบริการรวมมิตรทั้งบัญชีอีเมล์, เมล์ลิสต์, VPN, แชตออนไลน์, และบริการอื่นๆ อีกมากมาย ดำเนินการโดยกลุ่มอาสาสมัครในกรุงซีแอตเทิลตั้งแต่ปี 2542 โดยข้อมูลทุกอย่างที่รวมถึงเมล์ของคุณ จะจัดเก็บอยู่บน riseup.net ในรูปที่ถูกเข้ารหัส ทำให้เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารครบวงจรสำหรับผู้ใช้ที่เป็นกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว
7. CryptoHeaven
เป็นหนึ่งในบริการอีเมล์เก่าแก่ที่ยังให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีมาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือในกลุ่มลูกค้า โดยใช้โปรโตคอลเข้ารหัสแบบบิ้วท์อินเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของอีเมล์ แต่สิ่งที่ดูด้อยกว่าเจ้าอื่นคือ เจ้านี้ไม่อนุญาตให้คุณจ่ายค่าบริการด้วยบิทคอยน์ (แบบไร้ตัวตน สืบหาต้นตอไม่ได้) ได้
ที่มา : https://www.hackread.com/7-best-encrypted-email-services-can-use/