จุดอ่อนของ Wi-Fi มีตั้งแต่ระยะครอบคลุมที่ไกลได้ไม่มากเท่าไรนัก โดยเฉพาะเวลามีกำแพงหนาๆ กั้นระหว่างทาง, การเป็นจุดเข้าถึงเครือข่ายของแฮ็กเกอร์ เนื่องจากสารพัดเทคนิคที่ใช้เจาะระบบหรือล้วงข้อมูลได้ในขณะนี้, รวมทั้งยังจำเป็นต้องใช้ Access Point จำนวนมากในการติดตั้งเมื่อมีผู้คนจำนวนมากต้องการการเชื่อมต่อในพื้นที่เดียวกัน
ขณะที่เทคโนโลยีน้องใหม่ที่กำลังจะคลอดอย่าง Li-Fi หรือ Light Fidelity ที่ใช้โปรโตคอลไร้สายในรูปของคลื่นแสงแทนคลื่นวิทยุ โดยใช้ไฟ LED เป็นตัวส่งสัญญาณในช่วงคลื่นแสงที่อยู่นอกช่วงที่มนุษย์สังเกตได้ ซึ่ง LED ใช้ชิปควบคุมการส่งสัญญาณแสงได้ความถี่มากถึงหลายล้านครั้งต่อวินาที จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลได้เร็วมากกว่า Wi-Fi ถึง 100 เท่า
สำหรับกลไกการทำงานของ Li-Fi นั้น แตกต่างจากหลอดไฟ LED ธรรมดาตรงที่ แผงวงจรควบคุมในหลอดแบบ Li-Fi จะทำหน้ารับส่งสัญญาณไร้สาย พร้อมทั้งถอดรหัสมาเป็นข้อมูลโดยอาศัยความแตกต่างของความเข้มแสง ซึ่งสามารถแปลงข้อมูลเชื่อมต่อกับสื่อกายภาพแบบอื่นไม่ว่าจะเป็น สายเคเบิลแบบ CAT5 ทั่วไป หรือผ่านสายเชื่อมต่อแบบ Power-Line ก็ได้
Li-Fi จะสร้างการเชื่อมต่อแบบสองทิศทางด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงที่ต้นทางและปลายทาง เช่น ต้นทางอาจเป็นหลอดไฟ LED ภายในห้อง ส่วนปลายทางเป็นตัวอุปกรณ์พกพา หรือเป็นอุปกรณ์รับแสงที่ต่อเข้าอุปกรณ์พกพาอีกทีหนึ่ง ที่สามารถส่งคลื่นแสง LED แบบอินฟราเรดกลับไปยังหลอดไฟบนเพดานได้ โดยอุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับหาหลอดไฟ LED ที่มีความเข้มของสัญญาณมากที่สุดระหว่างที่คุณเคลื่อนที่ไปมาได้เหมือน Wi-Fi หา AP ด้วยเช่นกัน
คาดการณ์กันว่า จะมีสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีชิปส่งสัญญาณแบบ Li-Fi ออกจำหน่ายในตลาดภายในสองถึงสามปีข้างหน้านี้ แต่ในปัจจุบันเหล่าผู้จำหน่ายอุปกรณ์พกพายังคงพุ่งเป้าในการพัฒนาให้ใช้เทคโนโลยี 5G อยู่
ซึ่งชุดอุปกรณ์เพื่อใช้เทคโนโลยี Li-Fi นี้ไม่ได้แพงแต่อย่างใด แต่ผู้ผลิตยังคงรอเห็นสิ่งที่พิสูจน์ว่ามาตรฐานนี้สามารถใช้งานได้จริง และมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนดูคุ้มค่ากับการที่ต้องเปลี่ยนระบบของตัวเอง อย่างแม้แต่มาตรฐาน 5G ที่เหล่าผู้ผลิตต่างพยายามทำออกสู่ตลาดนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความลังเลเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีใครเอามาใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม