เป็นเรื่องอีกแล้ว เมื่อมีการตรวจพบว่าโพรโทคอล TCP (Transmission Control Propotol) ในระบบปฏิบัติการ Linux เวอร์ชั่นตั้งแต่ 3.6 หรือที่มีใช้งานตั้งแต่ พ.ศ. 2555 มีรอยรั่วที่แฮกเกอร์สามารถบุกเข้ามา ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คืองานนี้คนที่รับเคราะห์เป็นได้ทั้งคนที่ใช้ Linux โดยตรงหรืออาจจะเป็นคนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ได้ แถมการที่ Linux ได้รับความนิยมจากผู้สร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ งานนี้เป้าหมายจึงกว้างมากตั้งแต่ Web Server ไปจนถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone, Tablet PC และ Smart TV ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android… แม่เจ้า
นักวิจัยพบว่ารอยรั่วดังกล่าวเปิดช่องให้แฮกเกอร์ปล่อย Malware เข้าไปในทราฟฟิคอินเทอร์เน็ตซึ่งไม่ได้มีการเข้ารหัสป้องกันใด ๆ เลย Malware เหล่านี้ก็จะแทรกซึมเข้าไปในบรรดาอุปกรณ์ของผู้ใช้งานต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คราวนี้เรื่องร้าย ๆ ก็ตามมาอีกสารพัดตั้งแต่การสั่งให้การสื่อสารลดระดับการรักษาความปลอดภัยลงมา หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนทิศทางการไหลของข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์เหยี่อที่เคราะห์ร้ายไปยังเซิร์ฟเวอร์หรืออุปกรณ์ของแฮ็กเกอร์
งานนี้กระทบโพรโทคอล TCP ซึ่งเป็นกล่องดวงใจสำคัญของการสารบนโลกอินเทอร์เน็ต และเป็นฐานรากของโพรโทคอลระดับสูงที่สำคัญและใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น HTTP, FTP, SSH, Telnet, DNS และ SMTP
งานนี้บรรดานักวิจัยด้านความปลอดภัยจำนวน 6 คนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และห้องวิจัยทหารบกสหรัฐอเมริกา ถึงกับต้องเซ็ตระบบเพื่อตรวจสอบความปกติของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันโดยใช้โพรโทคอล TCP แล้วก็พบความน่าสะพึงกลัวว่าภัยคุกคามที่เกิดขึ้นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาควบคุมสั่งการใด ๆ เลย… เรื่องนี้ต้องเฝ้าดูว่าฝ่ายแก้ไขจะทำอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ : http://thehackernews.com/2016/08/linux-tcp-packet-hacking.html