หน้าแรก Data Center ประโยชน์สำคัญ 5 ประการ ของการแบ่ง Subnet ออกเป็นย่อยๆ

ประโยชน์สำคัญ 5 ประการ ของการแบ่ง Subnet ออกเป็นย่อยๆ

แบ่งปัน

ถ้าทราฟิกบนเครือข่ายของคุณเกิดเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้ระบบโดยรวมอืดลงมาก ย่อมถึงเวลาที่คุณควรพิจารณาแบ่งเครือข่ายของคุณออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้เล็กลง ซึ่งการแบ่งส่วนเครือข่ายหรือทำซับเน็ตนั้นมักใช้เวลาและการวางแผนมากพอสมควร แต่ผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามาก มาดูความคุ้มค่าถึง 5 ประการดังต่อไปนี้

1. ยกระดับเครือข่ายได้ทั้งประสิทธิภาพและความเร็ว
เนื่องจากแพ็กเก็ตแบบบรอดคาสต์จะส่งข้อมูลไปยังทุกอุปกรณ์ที่อยู่ในส่วนเครือข่ายหรือวงเดียวกัน เป็นผลจากการที่ทุกอุปกรณ์ต่างมีจุดเปิดเข้าถึงเครือข่ายร่วมกันหมด ยิ่งมีจุดเชื่อมต่อเครือข่ายมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของอุปกรณ์สวิตชิ่งมากเท่านั้น รวมถึงหน่วงประสิทธิภาพของเครือข่ายโดยรวม

นอกจากนี้ แพ๊กเก็ตบรอดคาสต์ยังคอยสแปมทุกอุปกรณ์ แม้แต่อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับข้อมูลนั้น ซึ่งนอกจากหน่วงความสามารถในการรองรับของเครือข่ายแล้ว ยังอาจร้ายแรงถึงขั้นทำเน็ตเวิร์กพังทั้งวงได้ด้วย แต่การแบ่งซับเน็ตให้ย่อยกว่าเดิมจะช่วยจำกัดบริเวณของแต่ละการบรอดคาสต์ ทำให้ซับเน็ตอื่นสามารถใช้ความเร็วและประสิทธิภาพของเน็ตเวิร์กตัวเองได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังช่วยให้คุณควบคุมโฟลว์การไหลของข้อมูลได้ดีกว่าเดิมด้วย แต่การแบ่งซับเน็ตในกรณีนี้ คุณต้องจำกัดจำนวนอุปกรณ์ต่อซับเน็ต และจัดการการไหลของทราฟิกระหว่างซับเน็ตให้สอดคล้องกันด้วย

2. ลดความแออัดของเครือข่าย
การแบ่งซับเน็ตเป็นการจำกัดบริเวณของอุปกรณ์นั้นๆ ให้สื่อสารกันภายในซับเน็ตของตัวเองโดยส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยลดความแออัดของเครือข่ายโดยรวม ซึ่งถ้าคุณวางแผนการแบ่งซับเน็ตได้ดีเพียงพอ ก็จะช่วยลดโหลดงานของทั้งเครือข่าย และจัดเส้นทางของทราฟิกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

นึกภาพว่าถ้าเครือข่ายขนาดใหญ่ไม่มีการซอยซับเน็ตย่อยลงอีกล่ะก็ อุปกรณ์อย่างสวิตช์ก็ต้องคัดลอกแพ๊กเก็ตบรอดคาสต์จากสารพัดอุปกรณ์มาแออัดอยู่บนพอร์ตแต่ละพอร์ต การแบ่งซับเน็ตช่วยลดปริมาณการคัดลอกแพ็คเก็จบรอดคาสต์ลงอย่างมาก นั่นคือประมาณข้อมูลที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายใหญ่ทั้งหมดก็จะลดลงมากเช่นกัน

3. ยกระดับความปลอดภัยของเครือข่าย
ถ้ามีการแบ่งซับเน็ตย่อยเพื่อจำกัดบริเวณของอุปกรณ์แต่ละกลุ่มแล้ว คุณสามารถสร้างการควบคุมด้านความปลอดภัยได้อย่างละเอียดและเหมาะสม ได้ประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ACL, QoS, หรือ Route-map ซึ่งจะช่วยระบุค้นหาอันตราย, ปิดกั้นจุดเปิดของเครือข่ายไม่ให้อันตรายบุกเข้ามายังซับเน็ตอื่น, และจำกัดบริเวณเพื่อจัดการกับอันตรายในซับเน็ตย่อยนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น คุณสามารถแบ่งซับเน็ตผ่านทางเราเตอร์หรือสวิตช์ โดยใช้การตั้งค่า Access List (ACL) เพื่อจำกัดการเข้าถึงของแต่ละซับเน็ตมายังส่วนที่เหลือของเครือข่ายองค์กรได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรที่มีค่าจากอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ไม่ให้ข้อมูลที่อ่อนไหวมีการเข้าถึงได้โดยง่ายอีกด้วย

4. ความคุมการขยายตัวของเครือข่าย
เมื่อคุณวางแผนออกแบบเครือข่าย จำเป็นต้องพิจารณาลักษณะการเติบโตของเครือข่ายในอนาคตด้วย ซึ่งการแบ่งซับเน็ตถือเป็นหัวใจที่ทำให้การขยายตัวอยู่ในวงที่คุณควบคุมได้ คำนวณจำนวนอุปกรณ์สูงสุดที่มีในซับเน็ตที่คุณแบ่งได้ง่ายๆ แค่เอาจำนวนหลักที่เป็น 0 (แน่นอนว่าในรูปเลขฐานสอง) ด้านท้ายของซับเน็ตมาส์กมายกกำลังสอง แล้วลบด้วย 2 (ที่ต้องแบ่งไอพีให้ชื่อเครือข่าย (ไอพีแรก) กับไอพีบรอดคาสต์ (ไอพีสุดท้าย) เช่น มาส์ก 255.255.255.0 (จำนวนหลักที่เป็น 0 ด้านท้ายเต็ม 8 หลักหรือ 8 บิตเลย)

แน่นอนว่ามีโฮสต์ได้สูงสุดเท่ากับ 256 ( หรือ 28) – 2 = 254 หรือมาส์ก 255.255.255.128 (จำนวนหลักที่เป็น 0 ด้านท้ายคือ 7 บิต) มีโฮสต์สูงสุดได้เท่ากับ 128 (หรือ 27) – 2 = 124 เครื่อง เป็นต้น (เอาว่าถ้าคิดในใจบ่อยๆ ก็คล่องเองครับ 555) แน่นอนว่าจำนวนโฮสต์ต่อซับเน็ต หรือขนาดซับเน็ตที่จะออกแบบ จะต้องสัมพันธ์กับวงเครือข่ายย่อยที่คุณจะกำหนดจัดสรรไอพีให้ เช่น ซับเน็ตของแต่ละแผนก เป็นต้น

5. ทำให้การบริหารจัดการโดยรวมง่ายขึ้นมาก
โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์ใช้ไอพีเยอะกว่า 254 เครื่อง คงไม่คิดจะขยายซับเน็ตโดยใช้มาส์กเปิดกว้างขึ้นเป็น 255.255.128.0 หรือ .64.0 ฯลฯ จนแพ๊กเก็ตบรอดคาสต์หรือไวรัสมัลแวร์วิ่งชนไหล่ติดเชื้อกันอีลุงตุ่งแช่รวนกันทั้งองค์กรนะครับ

การแบ่งซับเน็ตช่วยจำกัดจำนวนโฮสต์ในซับเน็ตนั้นๆ ไม่ให้ใครในแผนกเอาอุปกรณ์มาแย่งไอพีหลักจนมีไม่พอใช้ รวมทั้งยังใช้ระบุหรือจำกัดวงเป้าหมายต้นเหตุของปัญหาต่างๆ บนเครือข่ายได้ เช่น ซับเน็ตแผนกบัญชีล่ม ก็จะได้วิ่งไปดูที่แผนกบัญชีว่าเครื่องใครโหลดบิตหรือติดไวรัสได้ เป็นต้น

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/data-centers/5-subnetting-benefits/658428996