สามารถ อินโฟเน็ต ประกาศพร้อมเปิดให้บริการซอฟต์แวน์บนคลาวด์เต็มตัวเติมช่องว่างตลาดซอฟต์แวร์อีอาร์พี ส่ง Zimple ERP ยกระดับไมโครเอสเอ็มอีสู่ระบบดิจิทัลผ่านการใช้งานบนคลาวด์เต็มตัว
สามารถ อินโฟเน็ต เดินเกมส์รุกตลาดซอฟต์แวร์ในรูปแบบของบริการ (Software-as-a-Service) บนคลาวด์เต็มตัว ส่ง Zimple ERP ซอฟต์แวร์วางแผนทรัพยากรองค์กร หรืออีอาร์พีตัวแรกออกสู่ตลาด หวังยกระดับไมโครเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดเล็ก) สู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบผ่านการใช้งานบนคลาวด์เต็มตัว ชูประเด็นใช้งานง่าย ราคาประหยัด
ธานินทร์ ตันกิติบุตร ผู้จัดการทั่วไป สามารถ อินโฟเน็ต จำกัด เปิดเผยหลังจากใช้เวลาในการพัฒนามากว่า 3 ปีในที่สุดซอฟต์แวร์อีอาร์พีภายใต้แบรนด์ Zimple ERP ก็พร้อมเปิดให้บริการลูกค้าแบบเต็มตัวแล้ว โดย Zimple ERP เป็นซอฟต์แวร์ด้านการวางแผนทรัพยากรขององค์กร หรืออีอาร์พีขนาดเล็กที่ทำงานผ่านคลาวด์ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กมีระบบที่มีความจำเป็นในการทำธุรกิจไว้ใช้งานอย่างครบถ้วนโดย Zimple ERP มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลักที่ครบถ้วนเหมือกับซอฟต์แวร์อีอาร์พีของผู้ค้าซอฟต์แวร์รายใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย
– ระบบบัญชี
– ระบบการขาย
– ระบบคลังสินค้า
– ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
– ระบบคลังสินค้า
– ระบบเช็คและการเงิน
– และระบบการมัดจำ
รวมถึงมีระบบ Mini POS สำหรับธุรกิจค้าปลีกมาให้ด้วย โดยมีแผงหน้าจอควบคุมการทำงาน หรือแดชบอร์ดทำหน้าที่รายงานสรุปภาพรวมของธุรกิจ ทำให้สามารถติดตามปริมาณเงินสด ลูกหนี้การค้า รวมไปถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญได้ง่ายขึ้น
ธานินทร์กล่าวถึงที่มาที่ไปของซอฟต์แวร์ Zimple ERP ว่าเกิดจากการเห็นช่องว่างในตลาดอีอาร์พี ซึ่งผู้ค้าอีอาร์พีรายใหญ่ยังไม่มีโซลูชั่น หรือบริการที่เหมาะสมมาตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่มีขนาดเล็กมาก หรือไมโครเอสเอ็มอีได้ หรือที่มีอยู่ก็ใช้งานยาก และราคาแพง ดังนั้น สามารถ อินโฟเน็ต จึงได้นำเอาซอฟต์แวร์อีอาร์พีขนาดเล็กที่ให้บริการผ่านคลาวด์ของสตาร์อัพรายหนึ่งมาพัฒนาต่อยอดจนพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเต็มตัวภายใต้ชื่อ Zimple ER โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยกระดับไมโครเอสเอ็มอีสู่ระบบดิจิตัลอย่างเต็มตัวได้ง่าย และใช้เงินลงทุนต่ำ
จุดเด่นของ Zimple ERP ก็คือ เป็นซอฟต์แวร์ทางธุรกิจที่เหมาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องการความคล่องตัว ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ชนิดไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงโปรแกรม และไม่ต้องทำการอัพเกรด เพราะผู้พัฒนาจะทำการอัพเกรดให้ตลอดเวลา
โดยซอฟต์แวร์จะเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามต้องการตราบเท่าที่มีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ ที่สำคัญผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนติดตั้งระบบต่างๆ เอง แต่ใช้วิธีสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบออนไลน์ และเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเริ่มต้นใช้งานได้รวดเร็ว และใช้เวลาในการเรียนรู้สั้นๆ ธานินทร์ กล่าวเสริม
วิญญ์ วีณบุตร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของสามารถ อินโฟเน็ต เผยว่านอกจากใช้งานง่าย สามารถจัดการผ่านบราวเซอร์ ปรับตามหน้าจอของอุปกรณ์ สามารถเข้าจัดการผ่านแผงควบคุมบนหน้าจอ (Dashboard) แบบเรียลไทม์ ที่ช่วยให้ตรวจสอบสถานะทางธุรกิจได้ตลอดเวลา ทั้งด้านบัญชี การผลิต ตลอดจนสินค้าคงคลัง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น ด้านต้นทุนในการใช้บริการมีราคาเริ่มต้นเพียง 700 บาทต่อเดือน รองรับผู้ดูแลระบบ 1 คน และผู้ใช้งาน 1 คน และสามารถเพิ่มจำนวนผู้ดูแลระบบได้ในราคา 700 บาทต่อคน และสามารถเพิ่มในส่วนของผู้ใช้ในราคา 150 ต่อคน ซึ่งหากใช้งานจริงสามารถทำได้ภายใน 1 สัปดาห์
ตอนนี้ยังมีลูกค้าไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งระบบทั้งหมดที่กล่าวมามีความพร้อมรองรับการใช้งานแล้ว ขณะที่ปัญหาที่พบลูกค้า SME ยังติดปัญหาเรื่องการลงรายละเอียดบัญชี เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้วิธีจ้างบริษัทบัญชีภายนอกมาดูแล นอกนั้นปัญหาก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบเอกสารเล็กๆ น้อย ก็สามารถปรับแต่งแก้ไขได้
ในด้านความท้าทายในการทำตลาดนั้น ธานินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบก็คือ ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีความคุ้นเคยกับการลงรายละเอียดบัญชีด้วยตนเอง เพราะมักจะใช้วิธีจ้างบริษัทบัญชีให้เข้ามาดูแลงานในส่วนนี้ให้
ดังนั้นทางบริษัทจึงมีบริการที่ปรึกษาในช่วงแรก ทั้งรูปแบบการอบรม และช่วงของการย้ายข้อมูล เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลตั้งต้นเพื่อเป็นมาสเตอร์ดาต้าในการเริ่มต้นสร้างระบบ โดยสามารถนำข้อมูลจากภายนอกเข้าสู่ระบบได้ทันที ลูกค้าเพียงเสิร์ชหาและดึงเข้าใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของซัพพลายเออร์ และข้อมูลที่เป็นคอร์หลักของธุรกิจ ขณะที่ในส่วนของบัญชี ผู้ใช้ก็สามารถโอนข้อมูลบัญชีที่ใช้งานอยู่เข้าสูระบบ Zimple ERP ตามรูปแบบที่ต้องการ หรือจะเลือกใช้เทมเพลตของทาง Zimple ERP ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยชูความง่ายในการใช้งานที่มากขึ้น เพียงลูกค้าใส่ความเป็นบริษัทเข้าไปทั้งโลโก้และรายละเอียดของบริษัทก็สามารถใช้งานได้ทันที
ปัจจุบัน Zimple ERP ยังใช้ช่องทางดิจิทัล และการทำตลาดแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มากขึ้น และในอนาคตเมื่อมีคนรู้จักมากขึ้นก็จะเริ่มมองในส่วนของการทำตลาดในช่องทางปกติมากขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีนิยมใช้บริการจากบริษัทรับทำบัญชีจากภายนอก ทางสามารถ อินโฟเน็ตกำลังอยู่ในขั้นตอนของการหาพันธมิตรที่เป็นบริษัทรับทำบัญชีเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า และเป็นช่องทางในการทำตลาด Zimple ERP อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ด้านความปลอดภัยของระบบ Zimple ERP ธานินทร์ยืนยันว่าระบบทำงานตามมาตรฐาน และข้อกำหนดทางกฏหมายต่างๆ มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับ ISO 27001 ตามมาตรฐานระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS)
ในด้านการพัฒนาระบบต่อไปในอนาคตนั้น วิญญ์เผยว่าขณะนี้กำลังมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถรองรับการออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (eTax Invioce) ตามมาตรฐานของกรมสรรพากร เพื่อสามารถส่งให้กับลูกค้าและคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มา : นิตยสาร Enterprise ITPro ฉบับที่ 150 (เดือน พ.ค. – มิ.ย. 2560)