แม้ IPv4 จะร่อยหรอแทบไม่เหลือให้ใช้แล้วในโลกพับลิก แต่ก็ได้ฟีเจอร์อย่าง Network Address Translation (NAT) มาต่อชีวิตจนหลายองค์กรเคยชินกับ IPv4 และเกลียดการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวขับ(ไล่) ดัน ที่แท้จริงเห็นจะไม่พ้นการเข้ามาของอุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลที่กระหายไอพีมากมาย ดังนั้นวันนี้ยังไม่สายที่เราจะเปิดใจรับ IPv6 อีกครั้งกันครับ
วิธีอ่านที่อยู่ไอพีแบบ IPv6
ถือเป็นสกิลที่สำคัญที่สุดในการทำความรู้จักกับ IPv6 เลยทีเดียว ด้วยความยาวถึง 128 บิตเมื่อเทียบกับ 32 บิตของ IPv4 แม้จะใช้หลักการ Mask เพื่อแยกส่วนของบิตที่ระบุเครื่องโฮสต์กับบิตที่ระบุชื่อเครือข่ายแบบเดียวกันก็ตาม แต่ด้วยความยาวที่แทบจะมองบนนี้ เลยต้องมีวิธีแบ่งชุดตัวเลขให้จัดการง่ายๆ ด้วยการแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 16 บิต แยกด้วยเครื่องหมาย : เช่น
2001:0048:8173:0000:0000:82ae:0370:4456
การเขียนตรงๆ ยาวๆ ก็ดูจะยาวจนขี้เกียจเกินไป มาตรฐานเลยเห็นใจเราให้เขียนสั้นๆ ได้ ด้วยการตัดตัวเลขศูนย์ข้างหน้าของแต่ละกลุ่มออก กลุ่มไหน 0 หมด ก็ใส่แค่เลข 0 เลขเดียว ดังนี้
2001:48:8173:0:0:82ae:370:4456
สั้นได้กว่านี้อีกด้วย ถ้ามีกลุ่มที่มีค่าเป็น 0 อยู่ติดกัน ก็ดึงศูนย์ออกให้เหลือแต่เครื่องหมาย : ดังนี้
2001:48:8173::82ae:370:4456
การนำ IPv6 มาใช้
แน่นอนว่าจะให้แฮรี่พอตเตอร์มาเสกให้ทั้งโลกเปลี่ยนมาใช้ IPv6 พร้อมกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เหมือนจะปวดอุจจาระกลางทางก็จะปล่อยใส่หลุยส์วิตตองไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องศึกษาวิธีการแปลง IPv6 กับ IPv4 ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการทำ Dual-Stack หรือ Tunneling ก็ตาม
ถ้าฉันจะเปลี่ยนมาใช้ IPv6 อย่างเดียวล่ะ อย่าเพิ่งลืมกำพืดตัวเองตอนนี้ ต่อให้เทพขั้นไหนก็ทำไม่ได้ภายในปีสองปีนี้หรอก เหตุผลน่ะหรือ แน่ใจได้ไงว่าเราเตอร์หรือพีซีในหลืบองค์กรของคุณทุกเครื่องจะรองรับ IPv6 ได้หมดแล้ว
Dual-Stack เป็นวิธีแสนป๊อบปูล่าร์ในการให้ IPv6 และ IPv4 อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยการตั้งล่าม หรือเครื่องที่คอยแปลงกลับไปกลับมา เพื่อใช้ IPv6 ในบริเวณที่ใช้ได้ และกลับมาใช้เป็น IPv4 ในบริเวณที่ยังไม่พร้อม ถือเป็นเทคนิคเริ่มต้นที่ดีในการทดลองใช้บนเครือข่ายองค์กรของคุณด้วย
Tunneling หรือใส่ท่อให้ข้อมูลคุณ ด้วยการครอบแพ็กเก็จ IPv4 ด้วยเฮดเดอร์ IPv6 เพื่อยิงยาวข้อมูลบนเครือข่ายที่รองรับ IPv6 เช่น ระหว่างสาขาไกลๆ แล้วค่อยไปถอดท่อออกปลายทางเพื่อปล่อยแพ๊กเก็จ IPv4 ดั้งเดิมมาสื่อสารแบบธรรมดาต่อไป เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในองค์กรขนาดใหญ่มากที่ไม่อยากจ้างล่ามหรือตั้ง Dual Stack เยอะแยะมากมาย หรือถึงขั้นทุ่มทุนเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งองค์กรมาใช้ IPv6 ยกกระบิ
แล้ว IPv6 บนโลกอินเทอร์เน็ตล่ะ
แน่นอนว่าเริ่มมีการนำมาใช้แล้วโดยที่คุณอาจไม่ทันสังเกต โดยเฉพาะบนอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย นั่นคือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทรัพยากรที่คุณต้องการให้ประชาชนชาวโลกเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ เช่น เว็บไซต์บริษัท ต้องเข้าถึงได้ทั้ง IPv4 และ IPv6 ซึ่งตามมาด้วยความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิธีการตั้งค่าแบบ IPv6 ทั้งบนเว็บไซต์, DNS, อีเมล์, และ VPN เป็นต้น ซึ่งมีเทคนิคมากมายให้เลือกสรรไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์แปลงไอพี (NAT กลับมาอีกแล้ว), ใช้ตัวแบ่งโหลด, Reverse Web Proxy, หรือแม้แต่การทำพร็อกซี่ผ่าน Content Delivery Network หรือ CDN
ที่มา : http://www.networkcomputing.com/data-centers/1774654729