สำหรับคนที่ทำงานด้านเน็ตเวิร์กมานาน เชื่อได้ว่าท่านคงจะมีความคุ้นเคยกับการบริหารจัดการกับอุปกรณ์เน็ตเวิร์กที่มีการทำงานอยู่ในเลเยอร์ 2-4 กันเป็นอย่างดี
แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการบริหารจัดการกับอุปกรณ์เน็ตเวิร์กแบบเวอร์ชวลและ SDN ทำให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์เน็ตเวิร์กในรูปแบบเวอร์ชวลมากมายดังเช่น virtual switch, virtual router, virtual firewalls, virtual load balancers, virtual WAN optimization controllers เป็นต้น โดยที่ผู้ดูแลระบบเครือข่ายสามารถที่จะโปรแกรมให้เวอร์ชวลเน็ตเวิร์กนั้นทำงานเป็นอะไรก็ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลย หากปราศจากความสามารถในการจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7
ทำไมจึงต้องการจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7
ลองจินตนาการดูว่าถ้าผู้ดูแลระบบมีการทำอะไรก็ตามกับแอพพลิเคชั่นที่อยู่บน VM เช่น ย้ายแอพพลิเคชั่นไปอยู่บน VM ใหม่และยกเลิกการใช้ VM เดิม หรือมีการย้าย VM จากเซิร์ฟเวอร์เดิมไปยังเซิร์ฟเวอร์ใหม่หรือดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ สิ่งที่ตามมาก็คือเราจะต้องตามไปเซ็ตค่าคอนฟิกที่ใหม่และล้างข้อมูลที่เก่าออกทั้งหมดแบบทีละจุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจุกจิกเสียเวลาค่อนข้างมาก และมีโอกาสทำพลาดจนเกิดเป็นช่องโหว่ได้อีกด้วย จะดีกว่ามั้ยถ้ามีระบบมาคอยติดตามและแก้ไขสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แบบอัตโนมัติและมีล็อกไฟล์ให้ตรวจสอบภายหลังได้ด้วย แถมยังช่วยลดช่วงเวลาที่ระบบต้องล่มเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนระบบอีกด้วย
จุดสำคัญของบริการเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ก็คือการเชื่อมต่อแบบ WAN ที่ทำให้ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนังานสาขาสามารถเชื่อมต่อกับดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างอิสระแทนที่จะต้องมาผ่านเน็ตเงิร์กคอนโทรลเลอร์ที่ดาต้าเซ็นเตอร์เสมอ (เหมือนที่เวลาเราบินไปประเทศอังกฤษหรือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปด้วย Air France ก็ต้องไปต่อเครื่องที่ประเทศฝรั่งเศสเสมอ) ก็ให้กระจายการจัดการกับบริการเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ไปยังทุกจุดที่เชื่อมต่อแทน ทำให้สามารถกระจายทราฟฟิกได้ตามที่มีความต้องการใช้งานจริง ๆ เท่านั้น
คลาวด์และผู้บริโภคตัวขับเคลื่อนสำคัญ
จุดสำคัญที่ทำให้บริการคลาวด์เติบโตในตลาดก็คือต้นทุนในการใช้งานคลาวด์นั้นถูกกว่าการสร้างและดูแลระบบเอง ดังนั้นการเชื่อมต่อกับคลาวด์จึงทำให้เกิดความต้องการใช้บริการเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ขึ้นมาด้วย รวมถึงการจัดการกับความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขขององค์กร เช่นราคาค่าไฟในพื้นที่ที่มีราคาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการเลือกที่จะใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จากแหล่งพลังงานที่ถูกกว่า หรือ ช่วงเวลาที่มีการใช้งานเยอะ ๆ ก็อาจจะต้องการเลือกใช้บริการจากดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อของเน็ตเวิร์กน้อยที่สุด หรือแม้แต่การจัดการกับปริมาณทราฟฟิกมหาศาลชั่วคราวที่อาจจะเกิดจากความต้องการใช้บริการบางอย่างชั่วขณะ เช่น VDO conference ผ่าน VoIP หรือ Interactive Response ที่ต้องการผลแบบทันที การปรับเปลี่ยนการใช้งานเน็ตเวิร์กแบบทันทีทันใดจึงเป็นคำตอบที่ทำให้การใช้งานดังกล่าวนั้นเป็นจริงได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณการมาของ SDN และ เวอร์ชวลเน็ตเวิร์กที่ทำให้การปรับเปลี่ยนความต้องการใช้งานเน็ตเวิร์กนั้นสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ผลสำรวจหน่วยงานที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ SDN มากที่สุดก็คือทีมเน็ตเวิร์ก นั่นก็เพราะ SDN จัดเป็นอุปกรณ์เน็ตเวิร์กประเภทหนึ่งนั่นเองทำให้คนตัดสินใจเลือกซื้อหลักจ้องมาจากทีมเน็ตเวิร์ก แต่ความสำคัญของผลสำรวจนี้อยู่ที่กว่าครึ่งมีการเทคะแนนให้กับผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์และผู้ดูแลระบบเวอร์ชวลด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการจะเลือกใช้ SDN นั้นก็ต้องคำนึงถึงเซิร์ฟเวอร์และเวอร์ชวลซิสเต็มที่องค์กรเลือกใช้ด้วย เพราะหากไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วจะทำให้ SDN ที่เลือกมานั้นไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่องค์กรต้องการนั่นเอง และการจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่บุคคลเหล่านี้จะต้องพิจารณาการใช้งานร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
การจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7
จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตอย่าง VMWare นั้นมีการร่วมกับคู่ค้าอย่าง F5 ทำให้สามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มระหว่าง NSX ของ VMWare และ BIG-IQ ของ F5 หรือร่วมมือกับ Palo Alto Net¬works ทำให้ผู้ใช้ NSX สามารถ provision Palo Alto’s virtual firewalls ได้เลย (ไม่ต้องไปนั่งคอนฟิกบน Palo Alto’s virtual firewalls) เพราะบริการต่าง ๆ นั้นถูกเชื่อมโยงไปบน VM โดยไม่ได้สนใจกายภาพของมันว่าอยู่ตรงไหน IP address อะไร NSX สามารถคอนฟิก VMware-based หรือบริการของผู้ผลิตอื่น ๆ ที่มีความร่วมมือกันได้โดยอัตโนมัติ
ในขณะที่เจ้าพ่ออุตสาหกรรมเน็ตเวิร์กอย่าง Cisco ก็มีการเข้าถือสิทธิ์ของ Embrane ในปี 2014 ทำให้มีการดึงเอาความสามารถอันโดดเด่นของ Embrane ในการบริหารจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ที่ Cisco ไม่ถนัดมารวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ACI ของตนเอง
นอกจากนี้ผู้ผลิตอื่น ๆ ที่พัฒนาอุปกรณ์ในการบริหารจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ก็ยายามมองหาที่ยืนในตลาดเพื่อไม่ให้ถูกปลาใหญ่อย่าง VMWare, Cisco หรือ รายใหญ่อีกหลาย ๆ รายที่กำลังเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาด เช่น Kemp Technologies มีการเปิดบริการเลเยอร์ 4-7 ของ Load-Balancing ของตนเองให้กับผู้ผลิตอื่น ๆ สามารถเข้าถึงได้ หรือ Avi Network ที่ออกผลิตภัณฑ์สำหรับบริหารจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 โดยเฉพาะ หรือ Open source อย่าง Open Stack’s networking project Neutron ที่สามารถทำงานร่วมกับ API สำหรับ load-balancing-as-a-service และ firewall-as-a-service extensions.
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างลงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าสุดท้ายเกมนี้ก็เป็นการสู้กันของรายใหญ่อย่าง Cisco ที่มีส่วนแบ่งของอุปกรณ์เน็ตเวิร์กมากมายในตลาดที่มีความได้เปรียบในเรื่องของความเข้ากันได้ของผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์ก และ VMWare ที่มีบทบาทสำคัญในโลกเวอร์ชวล ก็จะเป็นผู้รอดและผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมในที่สุด
บทสรุป
สำหรับ SDN หรือเวอร์ชวลเน็ตเวิร์กแล้วการจัดการกับเน็ตเวิร์กเลเยอร์ 4-7 ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่หรือ WAN ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่สำคัญในปัจจุบันก็คือผู้ผลิตและมาตรฐานที่มีในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ผู้ผลิตยังไม่สามารถจัดการกับเวอร์ชวลเน็ตเวิร์กได้อย่างอัตโนมัติ ยังคงต้องอาศัยความชำนาญของผุ้ดูแลทางด้านเน็ตเวิร์กและลอจิกที่ดีในการบริหารจัดการกกับเวอร์ชวลเน็ตเวิร์กเพิ่มเติมด้วย ซึ่งถ้าหากเราหลีกเลี่ยงการเข้าสู่โลกของคลาวด์ขององค์กรไม่ได้ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ SDN หรือเวอร์ชวลเน็ตเวิร์กเช่นกัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อนเมื่อเวลานั้นมาถึงเราก็จะสามารถรับกับควาเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสบาย
ที่มา : นิตยสาร Enteprise ITPro ผู้แต่ง : สุรชาติ พงศ์สุธนะ