ประเด็นยอดนิยมของขาเมาท์ในกลุ่มวิศวกรเครือข่ายตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับ Open Networking จริงๆ “เครือข่ายเปิด” คำนี้มีหลายความหมายมาก แล้วแต่ว่าจะเปิดอะไรเปิดด้านไหน แต่บทความนี้อยากจะเจาะลึกเกี่ยวกับการเปิดกว้างในการใช้ระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์สกับอุปกรณ์เครือข่ายทั่วไป หรือแม้กระทั่งการรันโอเอสเปิดดังกล่าวในเวอร์ช่วลแมชชีน ถึงจะฟังดูตื่นเต้น แต่การเริ่มลงมือทำก็ดูเป็นไปได้ยากเช่นกัน ครั้งนี้ผมมีวิธีที่จะให้คุณทำความรู้จักกับโลกของ Open Networking อย่างง่ายๆ กันครับ
ประโยชน์ของการทำ Open Networking หลักๆ เลยมีอยู่สองด้าน ด้านแรก คุณจะประหยัดมากถึงมากที่สุดเมื่อใช้อุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์โนเนมใดๆ ก็ได้ โดยที่ใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจัดการอุปกรณ์ทุกชิ้นได้หมด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการโดนผูกขาดอุปกรณ์ทั้งหมด (รวมทั้งโอเอส) ภายใต้แบรนด์เนมแบรนด์เดียว (ค่าแบรนด์ที่บวกเพิ่มเข้าไปนั้นแพงอยู่นะครับ) ประโยชน์อีกด้านคือ ความยืดหยุ่นในการตั้งค่าที่ดีกว่ามากเมื่อทำบนระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์สสำหรับอุปกรณ์เครือข่าย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มแอพพลิเคชั่นหรือทูลอื่นๆ เพิ่มเติมติดตั้งลงในฮาร์ดแวร์ได้ด้วย ซึ่งคุณทำไม่ได้กับฮาร์ดแวร์มีแบรนด์ ถูกไหมครับ
มีการนำหลักการของการใช้ซอฟต์แวร์กำหนดการทำงานของเครือข่ายเข้ามาใช้ผลักดันการทำ Open Networking โดยในสภาพแวดล้อมแบบ SDN นั้น สามารถรวมศูนย์การจัดการแบบอัจฉริยะสำหรับอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมดให้อยู่ภายใต้แผงควบคุมเดียวกันได้ นั่นคืออุปกรณ์อย่างเราเตอร์หรือสวิตช์จะทำงานแค่การส่งต่อข้อมูลพื้นฐาน ภายใต้คำสั่งที่มาจากตัวควบคุมกลางหนึ่งเดียวเท่านั้น กล่าวอีกในหนึ่งคือ การนำระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์สสำหรับควบคุมเครือข่าย มาจัดการตารางส่งต่อข้อมูลของฮาร์ดแวร์โนแบรนด์ทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วทั้งดาต้าเซ็นเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กร
ฟังประโยชน์ที่ได้เหล่านี้แล้ว ก็รู้สึกว่าวิศวกรเครือข่ายทุกท่านควรเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับ Open Networking แต่มีคำเตือนนะครับว่า ถ้าโดดเข้าไปเล่นกับ Open Networking โดยที่ยังไม่ศึกษาหรือระมัดระวังเพียงพอแล้ว อาจจะกลายเป็นการสิ้นเปลืองหรืองบบานปลายแทนได้ ผมจึงแนะนำวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ที่เริ่มจากเราเตอร์ที่บ้านของคุณได้ อย่างการใช้โอเอสของเราเตอร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ได้แก่ DD-WRT ซึ่งสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งบนแพลตฟอร์มเราเตอร์ระดับคอนซูเมอร์ที่มีชื่อเสียงเกือบทุกแบรนด์ โดยเฉพาะของ Belkin, Linksys, และ D-Link การเริ่มต้นกับ DD-WRT จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกของเครือข่ายแบบโอเพ่นซอร์สโดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย
อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การลองใช้เวอร์ช่วลแอพพลายแอนซ์ด้วย OpenSwitch ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการบนสวิตช์แบบมัลติเลเยอร์สำหรับเครือข่ายระดับองค์กร แต่ก่อนจะลองติดตั้งบนฮาร์แวร์กายภาพจริงนั้น คุณอาจจะอยากลองใช้งานแบบเวอร์ช่วลดูก่อน ซึ่งสามารถศึกษาวิธีการติดตั้งเวอร์ช่วลแอพพลายแอนซ์ด้วย OpenSwitch อย่างง่ายได้จากลิงค์นี้ครับ http://www.openswitch.net/documents/dev/quick-start-virtual
เมื่อคุณสะสมประสบการณ์การทำ Open Networking ด้วย DD-WRT และ OpenSwitch มาพอสมควรแล้ว คุณอาจจะอย่างลองบนแพลตฟอร์มที่ซับซ้อนกว่านี้ ผมขอเสนอการทำงานบนสภาพแวดล้อม SDN เวอร์ช่วลเต็มรูปแบบอย่าง Cumulus VX หรือเลือกใช้โซลูชั่นที่ผสานทั้งการทำงานบนกายภาพและเวอรช่วลด้วยการใช้ Big Switch Networks Community Edition พร้อมกับการซื้อสวิตช์โนแบรนด์มาลองเล่นสักเครื่อง หรืออาจะลองซื้อสวิตช์ทั่วไปที่ติดตั้งโอเอสเรียบร้อยจากผู้จัดจำหน่ายแล้วอย่าง Dell หรือ HPE ก็ได้ครับ
ระลึกอยู่เสมอว่า โลกของ Open Networking ไม่ได้เริ่มต้นหรือจบง่ายๆ อยู่แค่เราเตอร์หรือสวิตช์ ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการง่ายมากที่จะหาโอเพ่นซอร์สมาใช้สำหรับไฟร์วอลล์หรือ Load Balancer หรือแม้แต่แอพพลายแอนซ์หรือบริการอื่นๆ บนเครือข่ายที่ไม่สามารถจินตนาการได้หมด ขึ้นอยู่กับคุณที่จะสานต่อหลักการนี้ให้ครอบคลุมยิ่งใหญ่ไปถึงขนาดไหน
ที่มา : http://www.networkcomputing.com/networking/getting-started-open-networking/1541855053