หน้าแรก Vendors Cisco คู่มือวิธีการติดตั้งระบบ Wireless LAN ขั้นต้น 3 แบบ (ภาษาไทย)

[บทความ] คู่มือวิธีการติดตั้งระบบ Wireless LAN ขั้นต้น 3 แบบ (ภาษาไทย)

แบ่งปัน

มาเรียนรู้โมเดลการวางระบบเครือข่าย Wireless LAN ทั้งสามแบบจากเนื้อหาที่สอนโดย Cisco กันครับ หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงมาจากหัวข้อ “การออกแบบและติดตั้งเครือข่ายไร้สาย 802.11” โดยจิม เกเยอร์ ซึ่งตีพิมพ์โดย Cisco Press

เราสามารถติดตั้ง WLAN เป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับความต้องการของระบบนั้นๆ โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมเชิงกายภาพได้แก่:
• Ad hoc
• Infrastructure
• Mesh

เครือข่ายไร้สายแบบ Ad hoc
Ad hoc WLAN (บางครั้งเรียกกันว่าเครือข่ายไร้สายแบบ “Peer-to-Peer”) ดังแสดงในรูปที่ 1 ต้องการเพียงแค่อุปกรณ์ไคลเอนต์ในมาตรฐาน 802.11 ที่ส่งสัญญาณวิทยุระหว่างอุปกรณ์เครื่องลูก ที่เชื่อมต่อกันภายในเครือข่ายแค่นั้น โดยไม่ต้องใช้แอคเซสพอยต์หรือตัวคอนโทรลเลอร์ใดๆ แค่ให้เครื่องลูกทุกเครื่องอยู่ในระยะที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ การส่งข้อมูลจะวิ่งจากเครื่องต้นทางไปเครื่องปลายทางโดยตรง

วิธีเชื่อมต่อเครือข่ายแบบ Ad hoc นี้เปิดให้ผู้ใช้ติดตั้งเครือข่ายไร้สายได้อย่างง่ายโดยไม่ต้องใช้แอคเซสพอยต์ ทำให้เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ที่ได้นี้ง่ายทั้งการติดตั้งและปิดการใช้งาน ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ถ้าคุณต้องการสร้างเครือข่ายแลนไร้สายระหว่างแล็ปท็อปไม่กี่เครื่องในห้องประชุม ที่ไม่มีเครือข่ายแลนไร้สายของอาคารให้เชื่อมต่อได้ เป็นต้น เครือข่ายลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ รวมทั้งการตั้งค่าก็ใช้ขั้นตอนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ต้องทำในการติดตั้ง Ad hoc WLAN ก็เพียงแค่เซ็ตค่าสัญญาณวิทยุ 802.11 บนอุปกรณ์ไคลเอนต์ที่ใช้วินโดวส์ให้เป็นโหมด Ad hoc เท่านั้น

wi1

รูปที่ 1 เครือข่ายแลนไร้สายแบบ Ad hoc ให้การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไคลเอนต์หลายเครื่อง ที่วางอยู่ในระยะที่เชื่อมต่อระหว่างกันได้

การสื่อสารแบบ Ad hoc นี้ มีประโยชน์อย่างมากในงานด้านความปลอดภัยสาธารณะ และการกู้ภัยต่างๆ ซึ่งทีมแพทย์นั้นต้องการการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้องรีบบุกเข้าภายในพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยไม่มีเวลาที่จะคอยเดินสายเคเบิลหรือติดตั้งฮาร์ดแวร์เครือข่าย ทีมแพทย์นี้สามารถใช้แล็ปท็อปที่ใช้ 802.11 เปิดการเชื่อมต่อแบบไร้สายได้แทบในทันที่เมื่อถึงที่เกิดเหตุ

การที่ไม่ใช้แอคเซสพอยต์ในเครือข่ายแบบ Ad hoc นี้ ทำให้เครือข่ายแลนไร้สายแบบ Ad hoc ต้องประสานการทำงานที่เลเยอร์ MAC มากขึ้น โดยเครื่องแรกที่เปิดใช้งาน Ad hoc (เครื่องไคลเอนต์ที่เปิดใช้ 802.11 ได้ และเซ็ตอุปกรณ์มาอยู่โหมด Ad hoc) จะสร้างเฟรมข้อมูลการตั้งค่าพื้นฐานสำหรับเข้าร่วม Ad hoc หรือที่เรียกว่า IBSS แล้วส่งข้อมูลนี้กระจายออกมา เพื่อประกาศการมีอยู่ของเครือข่าย Ad hoc นี้ และคอยจัดการซิงค์ข้อมูลสถานะการเชื่อมต่อระหว่างแต่ละเครื่อง ส่วนเครื่อง Ad hoc อื่นสามารถเข้าร่วมเครือข่ายได้หลังจากได้รับเฟรมข้อมูลการตั้งค่านี้ และยอมรับนำมาใช้ (เช่น ข้อมูลช่วงเวลาการส่งเฟรมสถานะการเชื่อมต่อ หรือ Beacon Interval เป็นต้น)

แต่ละเครื่องที่เข้าร่วมเครือข่ายแบบ Ad hoc นี้ จะต้องส่งสัญญาณสถานการณ์เข้าร่วมหรือ Beacon ออกมาอยู่เสมอถ้าเครือข่ายไม่ได้รับสัญญาณ Beacon จากเครื่องใดเครื่องหนึ่งภายในช่วงเวลาดีเลย์สั้นๆ ที่มีการสุ่มไว้ ซึ่งเวลาดีเลย์ที่สุ่มมานี้ช่วยลดการส่งข้อมูล Beacon จากหลายเครื่องพร้อมกัน ช่วยให้ลดจำนวนเครื่องที่ต้องส่ง Beacon ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าเครื่องใดเครื่องหนึ่งไม่ได้รับสัญญาณ Beacon ภายในเวลาดีเลย์สุ่มดังกล่าว เครื่องนั้นจะมองว่าไม่มีเครื่องอื่นในเครือข่ายที่เปิดการเชื่อมต่อแล้ว และจะส่งสัญญาณ Beacon ของตัวเองออกมาแทน ซึ่งเมื่อเครื่องอื่นได้รับสัญญาณ Beacon นี้ แต่ละเครื่องก็จะอัพเดตนาฬิกาภายในให้ตรงกับเวลาที่ประทับมาบนเฟรม Beacon โดยเฉพาะเมื่อเวลาบนเฟรมเร็วกว่านาฬิกาของตัวเอง ทั้งนี้เพื่อการันตีว่าทุกเครื่องสามารถทำงานร่วมกัน เช่น การส่งข้อมูล Beacon และการจัดการด้านพลังงาน ได้ในเวลาที่ตรงกันทั้งหมด

เครือข่ายแลนไร้สายแบบ Infrastructure
บริษัทส่วนใหญ่, ฮ็อตสป็อตในพื้นที่สาธารณะ, และเจ้าของบ้านต่างๆ มักจะติดตั้งเครือข่ายแลนไร้สายแบบ Infrastructure ซึ่งรูปแบบการติดตั้งเครือข่ายไร้สายแบบนี้ ดังรูปที่ 2 จะเป็นการขยายพื้นที่การเชื่อมต่อออกมาจากเครือข่ายแลนที่ใช้สายอยู่เดิม ซึ่งการติดตั้งแบบนี้จะต้องใช้อินเทอร์เฟซของแอคเซสพอยต์อย่างน้อยหนึ่งอินเทอร์เฟซในการกระจายสัญญาณไปยังอุปกรณ์พกพาอื่นๆ โดยแต่ละแอคเซสพอยต์จะสร้างศูนย์กระจายสัญญาณวิทยุที่ระบุข้อมูลการตั้งค่าพื้นฐาน หรือ Basic Service Set (BSS) เพื่อให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายไร้สายนี้สามารถหาตำแหน่งศูนย์เชื่อมต่อเพื่อเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ได้ การเชื่อมต่อแบบนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกับผู้ใช้เครือข่ายไร้สายรายอื่น ไปพร้อมๆ กับเซิร์เวอร์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนเครือข่ายที่อยู่ฝั่งแลนที่ใช้สายได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถใช้รูปแบบการติดตั้งนี้เพื่อเปิดให้พนักงานเข้าถึงแอพพลิเคชั่นของบริษัท และเชื่อมต่อออกสู่อินเทอร์เน็ตจากทุกตำแหน่งภายในบริษัทได้ เป็นต้น

wi2

รูปที่ 2 เครือข่ายแลนไร้สายแบบ Infrastructure จะเปิดอินเทอร์เฟซการเชื่อมต่อกับเครือข่ายแลนหลักที่ใช้สายเคเบิล โดยเปิดขยายพื้นที่การเชื่อมต่อออกมาให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วยแอคเซสพอยต์

แต่ละแอคเซสพอยต์บนเครือข่ายแลนไร้สายแบบ Infrastructure จะกระจายข้อมูลหรือบรอดคาสต์เฟรม Beacon ซึ่งคอยตรวจสถานะของเครือข่ายไร้สาย และซิงค์ข้อมูลหลายอย่าง เช่น การจัดการพลังงานของอุปกรณ์ 802.11 โดยแต่ละแอคเซสพอยต์จะสร้างศูนย์กระจายสัญญาณวิทยุ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณที่มักขึ้นกับลักษณะการก่อสร้างอาคารของพื้นที่นั้นๆ พร้อมทั้งเลือกเลเยอร์ชั้นกายภาพ, กำลังส่ง, และรูปแบบเสาสัญญาณ โดยระยะครอบคลุมสัญญาณขององค์กรส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 100 ฟุต ทั้งนี้ขึ้นกับอัตราการส่งข้อมูล และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเช่น รูปแบบการก่อสร้างของอาคาร

โดยระดับประสิทธิภาพที่ต้องการนั้น จะสัมพันธ์กับระยะครอบคลุมสัญญาณของแอคเซสพอยต์ เช่น อัตราส่งข้อมูลที่ต่ำกว่าจะให้ระยะการเชื่อมต่อที่ไกลกว่าการใช้อัตราส่งข้อมูลที่สูง

ถ้าบริษัทติดตั้งแอคเซสพอยต์ให้ศูนย์กระจายสัญญาณมีบริเวณครอบคลุมซ้อนทับกัน ดังแสดงในรูปที่ 3 จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถเคลื่อนที่ไปมาภายในพื้นที่ขององค์กรโดยรักษาการเชื่อมต่อไว้ (เรียกว่า โรมมิ่ง Roaming) โดยไม่พบการสูญเสียการเชื่อมต่อที่สังเกตได้ ซึ่งการ์ดวิทยุภายในอุปกรณ์พกพาของผู้ใช้จะเข้าเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ตัวใหม่ที่ให้สัญญาณแรงกว่าได้โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้อาจจะเริ่มดาวน์โหลดไฟล์เมื่อเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ A แต่เมื่อผู้ใช้เริ่มเดินออกจากบริเวณครอบคลุมสัญญาณของแอคเซสพอยต์ A เข้าสู่พื้นที่ของแอคเซสพอยต์ B อุปกรณ์วิทยุของไคลเอนต์ก็จะเชื่อมต่อผู้ใช้เข้ากับแอคเซสพอยต์ B ใหม่ให้แบบอัตโนมัติ โดยที่ยังดาวน์โหลดไฟล์ได้อย่างต่อเนื่องผ่านการเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ B ซึ่งโดยทั่วไปผู้ใช้จะต้องไม่พบดีเลน์การเชื่อมต่อที่สังเกตได้ แต่การใช้งานบางอย่างที่อ่อนไหว อย่างโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายไร้สายหรือ Voice Over WLAN อาจพบการหลุดของสัญญาณได้ถ้าดีเลย์การโรมมิ่งเกิน 150 มิลลิวินาที เป็นต้น

wi3

รูปที่ 3 เครือข่ายไร้สายแบบใช้ศูนย์กระจายสัญญาณหรือ Cell ซ้อนทับกัน เพื่อรองรับการโรมมิ่ง

ในเครือข่ายไร้สายแบบ Infrastructure นี้ การส่งต่อข้อมูลจะไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างไคลเอนต์บนเครือข่ายไร้สายโดยตรง ทราฟิกข้อมูลที่วิ่งจากผู้ใช้ไร้สายรายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่ง จะต้องเดินทางผ่านแอคเซสพอยต์ (ดังรูปที่ 4) ตัวอย่างเช่น แอคเซสพอยต์จะรับทราฟิกข้อมูลที่วิ่งจากไคลเอนต์ A ไปยังไคลเอนต์ B แล้วส่งสัญญาณใหม่เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ได้ไปยังไคลเอนต์ B อีกที ดังนั้น ถ้าทราฟิกการส่งข้อมูลระหว่างไคลเอนต์บนเครือข่ายไร้สายมีมากขึ้น ก็จะเป็นการลดทรูพุตการส่งข้อมูลทั้งเครือข่าย เนื่องจากแอคเซสพอยต์จำเป็นต้องรับและส่งต่อข้อมูลต่างๆ ไปยังเครื่องเป้าหมายอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าอุปกรณ์ไร้สายต้นทางจะส่งข้อมูลไปยังเครื่องอื่นที่อยู่ฝั่งแลนหลักที่ใช้สายเคเบิลแล้ว แอคเซสพอยต์ก็ไม่ต้องคอยส่งสัญญาณไร้สายใหม่สำหรับส่งข้อมูลไปยังเครื่องไร้สายเครื่องอื่น ปกติแอคเซสพอยต์ (ถ้าทำงานในโหมดที่เป็นเอกเทศ) จะส่งข้อมูลต่อไปยังแลนใช้สายสำหรับการเราท์ติ้งไปยังเครื่องบนแลนใช้สายอื่นๆ โดยตรง แต่ถ้าเป็นเครือข่ายไร้สายที่ใช้ตัวคอนโทรลเลอร์ควบคุมอีกทอดแล้ว แอคเซสพอยต์ต้องส่งต่อข้อมูลที่ปลายทางอยู่ฝั่งแลนใช้สายไปยังคอนโทรลเลอร์ก่อน แล้วคอนโทรลเลอร์ค่อยส่งต่อข้อมูลเข้าแลนที่ใช้สายต่อไป

wi4

รูปที่ 4 ลักษณะการเดินทางของข้อมูลบนเครือข่ายไร้สายแบบ Infrastructure

นอกจากการวางเซลล์ให้ซ้อนทับกันบางส่วน (Overlapped) แล้ว ระบบในมาตรฐาน 802.11 ยังรองรับการวางเซลล์วิทยุแบบซ้อนทับร่วมกันทั้งหมด (Collocated) และแบบที่ไม่ซ้อนทับกันเลย (Disjointed) ด้วย ดังแสดงในรูปที่ 5

wi5

รูปที่ 5 เครือข่ายไร้สายแบบ Collocated และ Disjointed

การติดตั้งเซลล์วิทยุแบบ Collocated มีประโยชน์ในการขยายขีดความสามารถในการส่งต่อข้อมูลให้มากกว่าที่แอคเซสพอยต์เครื่องเดียวจะรับได้ ในกรณีนี้ จะใช้แอคเซสพอยต์ตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไปมาติดตั้งให้เซลล์วิทยุซ้อนทับกันมากที่สุด ซึ่งจะทำงานได้ดีถ้าแอคเซสพอยต์ทั้งหมดในพื้นที่ตั้งค่าช่องสัญญาณวิทยุ หรือแชนแนลที่ไม่ขัดแย้งกันเอง โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ใช้ไปเชื่อมต่อคนละแอคเซสพอยต์เพื่อแบ่งโหลดการทำงาน เช่น ผู้ใช้กลุ่มหนึ่งจะไปเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ A ขณะที่ผู้ใช้ที่เหลือจะไปเชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ B ทำให้สามารถเพิ่มขีดจำกัดปริมาณการส่งข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวได้

นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังเลือกติดตั้งแอคเซสพอยต์แบบที่พื้นที่ครอบคลุมสัญญาณไม่ซ้อนทับกันเลยก็ได้ ในกรณีที่การครอบคลุมสัญญาณทั่วทั้งพื้นที่ไม่ได้จำเป็น เช่น บริษัทอาจเลือกติดตั้งแอคเซสพอยต์ในห้องประชุมแต่ละห้อง โดยไม่ได้ติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นภายในอาคาร ซึ่งถ้าเซลล์วิทยุไม่ได้ซ้อนทับกัน ผู้ใช้จะสูญเสียการเชื่อมต่อเมื่อเคลื่อนที่ออกจากเซลล์หนึ่ง และจะเชื่อมต่อใหม่เมื่อเข้าสู่พื้นที่ของอีกแอคเซสพอยต์ เครือข่ายในมาตรฐาน 802.11 รองรับเครือข่ายรูปแบบนี้ในลักษณะที่เหมือนกับการโรมมิ่งระหว่างเซลล์วิทยุที่มีการซ้อนทับกัน โดยดีเลย์การเชื่อมต่อใหม่จะขึ้นกับการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ไปยังพื้นที่ของแอคเซสพอยต์ถัดไป ซึ่งบางรูปแบบการใช้งานผ่านการสื่อสารไร้สายนั้น อาจไม่ทนต่อดีเลย์การโรมมิ่งที่นานแบบนี้ได้

เครือข่ายไร้สายแบบ Mesh
เครือข่ายไร้สายแบบ Mesh นี้เป็นการวางอุปกรณ์หรือโหนด (Node) กระจายเป็นร่างแห (Mesh) ซึ่งอุปกรณ์กระจายสัญญาณนี้คล้ายกับแอคเซสพอยต์ เว้นแต่ Mesh Node จะเชื่อมต่อระหว่างกันแบบไร้สายแทนการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิลแบบอีเธอร์เน็ตปกติอย่างในเครือข่ายไร้สายแบบ Infrastructure (ดูรูปที่ 6) ดังนั้น การเชื่อมต่อแบบ Mesh นี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อแบบอีเธอร์เน็ต โดยคุณสามารถติดตั้งอุปกรณ์ตรงไหนก็ได้ตราบเท่าที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้อุปกรณ์ได้ (เช่น คุณอาจใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกอาคาร เป็นต้น)

เครือข่ายแบบร่างแหนี้มีประโยชน์อย่างมากในพื้นที่ที่แทบเป็นไปไม่ได้ในการติดตั้งเครือข่ายไร้สายที่ต้องใช้แอคเซสพอยต์ ตัวอย่างเช่น เครือข่ายร่างแหทำให้สามารถวางเครือข่าย Wi-Fi ที่ครอบคลุมพื้นที่พักอาศัย หรือทั่วทั้งเมืองได้ ซึ่งการเดินสายเคเบิลทั่วทั้งพื้นที่เปิดกว้าง หรือขนาดใหญ่นั้นถือเป็นงานช้างเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณสายเคเบิลมหาศาลที่ต้องรองรับการสื่อสารข้อมูล หรือการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ต่างๆ ตัวอย่างพื้นที่ลักษณะอื่นๆ ที่การเดินสายเคเบิลมักเป็นไปได้ยาก เช่น ศูนย์ประชุมหรือจัดแสดงสินค้า, วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย, สนามกีฬา, ท่าเรือ, สวนสาธารณะ, และสถานที่ก่อสร้าง เป็นต้น

wi6
รูปที่ 6 เครือข่ายแบบร่างแห (Mesh) ที่ประกอบด้วยแอคเซสพอยต์แบบ Mesh ที่เชื่อมต่อระหว่างกันแบบไร้สาย

อุปกรณ์เครื่องลูกจะเชื่อมต่อกับ Mesh Node แบบเดียวกับที่เชื่อมต่อกับแอคเซสพอยต์ในเครือข่ายแบบ Infrastructure โดยแต่ละ Mesh Node จะใช้โปรโตคอลเลือกเส้นทางหรือเราท์ติ้ง ที่คอยหาแพ็กเก็ตข้อมูลให้สื่อสารกันได้ระหว่างอุปกรณ์ไคลเอนต์และการเชื่อมต่อแบบใช้สาย หรือส่งต่อไปยังอินเทอร์เน็ตและเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เครือข่ายแบบร่างแหนี้ทำให้ได้เส้นทางหลายเส้นทางพร้อมกันสำหรับแต่ละต้นทางและปลายทาง ซึ่งการใช้อัลกอริทึมเราท์ติ้งที่ชาญฉลาดจะทำให้แต่ละ Node เลือกเส้นทางฟอร์เวิร์ดแพ็กเก็ตไปบนเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ เช่น ถ้าลิงค์ระหว่างโหนดบนเส้นทางที่เลือกมีการใช้งานหนาแน่น อัลกอริทึมก็จะเลือกเส้นทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงลิงค์ดังกล่าว รวมทั้ง ถ้า Node ใดดาวน์หรือใช้งานไม่ได้ ก็จะเลือกเส้นทางใหม่ตามอัลกอริทึมเราท์ติ้งกำหนด เป็นต้น

เวลาหน่วงที่เกิดขึ้นมีได้หลากหลายบนเครือข่ายแบบร่างแห ขึ้นกับจำนวนผู้ใช้ และจำนวนโหนดที่ต้องใช้ในการส่งแพ็กเก็ตข้อมูลไปยังเครือข่ายแกนหลัก ซึ่งดีเลย์ในการโรมมิ่งและเราท์ติ้งอาจกระทบกับประสิทธิภาพโดยรวมได้ โดยเฉพาะการใช้งาน VoIP แม้ว่าอัตราการส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้และเครือข่ายแกนหลังจะทำได้สูงก็ตาม ซึ่งผู้จำหน่ายเครือข่ายแบบร่างแหหลายเจ้ามักกล่าวดักไว้ว่า ดีเลย์ที่เกิดภายในเครือข่ายอาจมีผลค่อนข้างมาก

หลายครั้งที่มีโหนดขาดพลังงานไฟฟ้าในบางพื้นที่ ทำให้เกิดความล่าช้าในการติดตั้ง รวมทั้งอาจเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อย่างการติดตั้งภายนอกอาคาร เสาไฟส่องสว่างบางจุดอาจไม่ได้มีพลังงานไฟฟ้าเหลือเพียงพอ หรือการติดตั้งบางจุดอย่างบนหลังคา ที่ไม่ได้มีจุดเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าให้ กรณีเหล่านี้ อาจพิจารณาใช้แผงเซลล์สุริยะในการให้พลังงานไฟฟ้าแก่ Mesh Node และอุปกรณ์แกนหลักแทนได้ ซึ่งการติดตั้งลักษณะนี้จะใช้แบตเตอรี่สำรองพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้อุปกรณ์เครือข่ายสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีแบตเตอรี่แล้ว อาจไม่มีพลังงานจ่ายให้อุปกรณ์ในบางเวลา เช่น เวลาที่มีเมฆมากจนปิดบังแสงอาทิตย์ หรือช่วงกลางคืน เป็นต้น

แม้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าเวลาติดตั้งเครือข่ายแบบร่างแห แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ต้นทุนด้านแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่อาจแพงถึงระดับหลายร้อยดอลลาร์ฯ สำหรับแต่ละโหนดได้ ทำให้การติดตั้งแบบนี้ต้องมีงบประมาณในการติดตั้งค่อนข้างสูง และเลือกใช้เฉพาะในจุดที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าได้ ตัวอย่างเช่น เมืองจิตตกองในบังคลาเทศที่เลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับบางโหนด เนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่เสถียรเพียงพอ

ถ้าคุณตัดสินใจจะใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้พลังงานแก่ Mesh Node แล้ว ก็จำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพของแสดงอาทิตย์ต่อวันโดยเฉลี่ย และต้องให้แน่ใจว่าแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่จะใช้ จะสามารถป้อนพลังงานให้อุปกรณ์ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนเนื่องจากการพยากรณ์ปริมาณแสงอาทิตย์ อาจไม่สามารถคำนวณปริมาณพลังงานที่ป้อนให้อุปกรณ์เพียงพอได้อย่างแม่นยำ

ที่มา: http://www.networkcomputing.com/wireless-infrastructure/wireless-lan-models/1308618959