สามกลุ่มธุรกิจของ Huawei เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ Enterprise โตกว่า 50% พร้อมผลักดันโครงการรัฐบาลไทยมากมาย รวมถึงงาน Startup Thailand ที่ผ่านมา
ทางทีมงาน Enterprise ITPro ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษ “วัง อี้ ฝาน” กรรมการผู้จัดการ Huawei ประเทศไทย ในระหว่างงาน Startup Thailand ซึ่งทาง Huawei ได้เข้าเป็นไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการหลักครั้งนี้
คุณวัง ได้เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจในประเทศไทยว่า ทาง Huawei นั้นได้พยายามหาเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าเช่นกลุ่ม CNBG (Carrier Network Business Group) เป็นกลุ่มโอเปอเรเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งเอาความเชี่ยวชาญเหล่านี้ มาช่วยส่งเสริมในกลุ่มใหม่ทั้งสองของเราก็ประกอบด้วยกลุ่ม Enterprise Business Group และกลุ่ม Consumer Business Group
หากพูดในแง่ของสัดส่วนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจทั้งสามแล้ว คุณวังยืนยันว่า กลุ่ม CNBG เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ Huawei อย่างต่อเนื่องและมูลค่าการตลาดก็ใหญ่มากเช่นกัน โดยมียอดเติบโตแล้วคิดเป็นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถัดมาในกลุ่มของ Consumer นั้นมีรายได้ที่เติบโตสูงมาคิดเป็น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์ประเภทมือถืออย่างเช่น Huawei P9 เป็นเรือธงในการรุกตลาด และมียอดขายที่ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจมาก ส่วนในแง่ของกลุ่ม Enterprise ซึ่งประกอบด้วยโพรดักส์ไม่ว่าจะเป็น Networking, Storage หรือ Server มียอดเติบโตสูงถึง 50% ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้ถึงโซลูชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาย (ยอดรายรับดังกล่าวเป็นตัวเลขในประเทศไทย)
นายใหญ่ของ Huawei พูดถึงเรื่องของการวิจัยและการลงทุนไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าเขาทราบเกี่ยวกับการซื้อกิจการของเวนเดอร์รายอื่นๆ แต่สำหรับ Huawei นั้นมีความแตกต่างออกไป เพราะ Huawei มีแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมทั้งงบประมาณการลงทุนด้าน R&D นี้สูงมาก ตัวอย่างปีที่แล้วก็ลงทุนด้าน R&D นี้มากถึง 9,200 ล้านเหรียญฯ อีกทั้งการซื้อกิจการและการรวมกิจการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น Huawei จึงมีแนวคิดในลักษณะเปิดเพื่อการเป็นพันธมิตรกันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Intel, Oracle หรือพาร์ทเนอร์อื่นๆ ก็มาร่วมกับเราเพื่อพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ มาตอบโจทย์ตลาด ซึ่งตอนนี้มีพันธมิตรมากมาย
โลกจะพัฒนาสู่ยุค CaaS 2.0
คุณวัง กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือการสื่อสารที่เชื่อมโยงกันระหว่างพวกสิ่งของและสิ่งของเอง หรือที่เรียกว่ากันว่า Communication-as-a-Service หรือ CaaS นั่นเอง โดยที่งานประชุมใหญ่ Huawei Connect 2016 ทาง Huawei ก็เพิ่งเปิดตัวโซลูชั่น Huawei’s Communication as a Service 2.0 (CaaS 2.0) ไปแล้วเช่นกัน โซลูชั่นนี้เป้นการผนึกเอาความสามารถในการสื่อสารหลายๆ อย่างถึงห้าประการ ประกอบด้วย Real-time Voice, Real-time Video, Network QoS, Location information, และการ Integration กับแอพพลิเคชั่นของ Third-party
Huawei พยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาช่วยให้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปได้ดีมากขึ้น สามารถที่จะติดต่อกันระหว่างมนุษย์และสิ่งของ และแม้กระทั่งสิ่งของติดต่อกับสิ่งของได้เอง โดยพวกเขามีความคิดไว้ว่าทุกอย่างควรจะสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด แต่ทว่าไม่ใช่ว่า Huawei จะสามารถทำได้ทั้งหมดคนเดียว จำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรและพาร์ทเนอร์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมลักษณะนี้ขึ้นมา
สนับสนุนหน่วยงานรัฐและประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง
จะเห็นได้ว่า Huawei เริ่มเข้ามามีบทบาทในแง่ของความช่วยเหลือและซัพพอร์ตแก่การศึกษาและรัฐอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็ได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนในโครงการ Startup Thailand หลัก ของทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชื่อเดิม) ซึ่ง Huawei ได้สนับสนุนในส่วนของการจัดงาน, เงินรางวัล และการเชิญทีมผู้ชนะไปเยี่ยมชมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอันทันสมัย ณ สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยที่ประเทศจีนด้วย
โดยคุณวัง บอกว่าเราว่า Huawei เองมีความมุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจ Startup ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ และคาดว่าพวกเขาจะช่วยส่งพัฒนาเศรษฐกิจด้านดิจิตอลของประเทศไทยต่อไปได้
และหากพูดถึงความสำคัญของประเทศไทยแล้ว Huawei ถือว่าเป็นประเทศที่พวกเขาให้ความสำคัญสูงมาก ตัวอย่างเช่นการเปิด ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center – CSIC) และศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นศูนย์นวัตกรรมล้ำสมัยในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว หรือการสนับสนุนงานที่ชื่อว่า The Intelligent Power Grid Summit 2016 ของทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการนำเอาเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้ามาเป็นวิทยาทานในงาน อีกทั้งยังมีโครงการ HAINA ซึ่งให้การสนับสนุนอุปกรณ์และการเรียนการสอนด้านเน็ตเวิร์กกิ้งและเราติ้ง ให้แก่ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงวางแผนที่จะสร้าง Open Lab ขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะเป็นศูนย์สำหรับผลักด้านระบบ Digital Ecosystem ที่จะนำเอาเทคโนโลยี Cloud, Big Data และ IoT มาต่อยอดสร้างเป็นสมาร์ทซิตี้ให้ดีขึ้นด้วย
บทวิเคราะห์ส่งท้าย
Huawei กำลังรุกตลาดในเมืองไทยมากขึ้น อาจจะดูเหมือนว่าแต้มต่อที่เหนือกว่าคนอื่นๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและกำลังทุน แต่ด้วยการที่ Huawei นั้นให้ความสำคัญกับประเทศไทยและลงทุนด้านโครงการลักษณะ Corporate Social Responsibility (CSR) หลายๆ อย่างไม่ว่าจะ การสนับสนุนงาน The Intelligent Power Grid Summit 2016, โครงการ HAINA, หรือการสนับสนุน Startup Thailand และงานต่างๆ ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานด้านการศึกษาไทยขอความร่วมมือมา จึงทำให้เขาเหนือกว่าเวนเดอร์อื่นอีกหลายขุม และนี่คือยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดที่เราได้สัมผัสมา !